บริษัท ราช กรุ๊ป จับมือ มธ.- NNCL- ALT พัฒนาโครงการ District 9: เขตอุตสาหกรรมดิจิทัลและชุมชนอัจฉริยะ

82
มิติหุ้น- บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประสานกำลังบริษัท นวนคร จำกัด (NNCL) บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) (ALT) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมทัพด้วย Graduate School of Design มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรรมอัจฉริยะเต็มรูปแบบ โดยบริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการ District 9:  เขตอุตสาหกรรมดิจิทัลและชุมชนอัจฉริยะ” ร่วมกับพันธมิตรทั้ง 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นการนำร่องพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ที่ได้รับการคัดเลือกจากทำเลที่ตั้งที่มีศักยภาพเหมาะสม กล่าวคือ มีความเป็นชุมชน มีสถาบันการศึกษา ที่พักอาศัย ธุรกิจการค้า และเขตอุตสาหกรรมอยู่โดยรอบ ตลอดจนมีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค  โครงการนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของบริษัทฯ อีกทั้งยังเป็นการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจเดิม ทั้ง NNCL และ ALT เพื่อนำความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายเข้ามาขับเคลื่อนและผลักดันความสำเร็จ
“การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ประกอบกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะได้รับการขานรับจากภาครัฐและเอกชนมากขึ้น บริษัทฯ จึงเล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจ และนำมาสู่ความร่วมมือในโครงการ District 9: เขตอุตสาหกรรมดิจิทัลและชุมชนอัจฉริยะ ซึ่งพันธมิตรแต่ละฝ่ายจะได้บูรณาการความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นกำลังในการพัฒนาโครงการตามเป้าหมาย บริษัทฯ คาดหวังว่าโครงการจะส่งผลกระทบสำคัญต่อการบริหารต้นทุนของภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมผลิตภาพและประสิทธิภาพที่สูงขึ้น และยังตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบดิจิทัลของคนในสังคมปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น” นายกิจจา กล่าว

ในการพัฒนาโครงการ District 9: เขตอุตสาหกรรมดิจิทัลและชุมชนอัจฉริยะ มีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ Graduate School of Design มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นแกนหลักในการออกแบบ วางแผน และวางผังเมือง รวมถึงระบบสาธารณูปโภค ในขณะที่บริษัทฯ จะสนับสนุนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีพลังงาน  NNCL สนับสนุนข้อมูลด้านระบบสาธารณูปโภคในเขตอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม และ ALT สนับสนุนความรู้ด้านนวัตกรรมโทรคมนาคมและโครงข่ายการสื่อสาร โดยคาดว่าต้นแบบจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2563