ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน หนุนให้ราคาน้ำมันดิบพุ่ง

193

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 13 มกราคม 2562

“ไทยออยล์” คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 58 – 63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 64 – 69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (13 – 17 ม.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบคาดจะทรงตัวในระดับสูง จากเหตุความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านที่ยืดเยื้อ หลังเกิดเหตุการณ์โจมตีกันระหว่างสองประเทศ โดยสหรัฐฯ ประกาศเดินหน้าที่จะคว่ำบาตรอิหร่านต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน ประกอบกับ กำลังการผลิตจากกลุ่มโอเปกมีทิศทางปรับตัวลดลงตามข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตที่มากขึ้นในไตรมาส 1/2563 นอกจากนี้ การลงนามข้อตกลงระยะที่ 1 ระหว่างสหรัฐฯ – จีน ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 15 ม.ค. นี้ จะส่งผลแง่บวกต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังสภาพเศรษฐกิจอ่อนแอลงจากผลกระทบของสงครามการค้าที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานเกือบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงจากเหตุความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 63 หลังอิหร่านยิงมิสไซล์โจมตีฐานทัพในอิรักที่มีทหารอเมริกันประจำการอยู่ โดยยืนยันว่าไม่มีทหารอเมริกันเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ และฐานทัพได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พร้อมทั้งประกาศจะเดินหน้าคว่ำบาตรอิหร่านต่อไป จนกว่าอิหร่านจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของตนเองและข้อตกลงจำกัดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และเรียกร้องให้นาโต้เข้าไปมีส่วนร่วมในการผ่อนคลายสถานการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางมากขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ ได้คว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน ทำให้กำลังการผลิตน้ำมันในอิหร่านเดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 2.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีทิศทางดีขึ้น หลังบรรลุข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 และจะมีการลงนามในข้อตกลงการค้าระหว่างสองประเทศในวันที่ 15 ม.ค. นี้ ซึ่งจะลดความร้อนแรงของสงครามภาษีระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 2 ปี โดยตัวแทนระดับสูงของจีนจะเข้าร่วมพิธีลงนามอย่างเป็นทางการที่ทำเนียบขาวสหรัฐฯ และหลังจากนั้นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเดินทางไปยังกรุงปักกิ่งเพื่อเจรจาพูดคุยเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าระยะที่ 2 ต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวดีขึ้น
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังกลุ่มโอเปกได้มีมติที่จะปรับลดกำลังการผลิตในไตรมาส 1/2563 ราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มจากข้อตกลงเดิมที่ระดับ 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยรอยเตอร์ได้เปิดเผยตัวเลขกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกในเดือน ธ.ค. 62 ปรับลดลงจากเดือน พ.ย. 62 ราว 50,000 บาร์เรลต่อวัน โดยซาอุดิอาระเบียและอิรักได้ปรับลดกำลังการผลิตลงสูงที่สุดในกลุ่มโอเปก โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียและอิรักในเดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 9.8 และ 4.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ
  • อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 3 ม.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 3.6 ล้านบาร์เรล
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขดุลการค้าของจีนเดือน ธ.ค. 62 จีดีพีจีนไตรมาส 4/2562 ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 62 กำลังการผลิตภาคอุตสาหรรมเดือน ธ.ค. 62 ผลการประชุมนโยบายการเงินยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 – 10 ม.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 59.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 3.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 66.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง ขณะที่ ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9.1 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 4.5 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ร้อนระอุ จากการที่สหรัฐฯ สังหารผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอิหร่าน ส่งผลให้อิหร่านตอบโต้กลับโดยการโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรัก นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียในเดือน ธ.ค. 62 ปรับตัวลดลงราว 50,000 บาร์เรลต่อวัน