กิจการร่วมค้าฟอร์ทและยิบอินซอยลงนามสัญญาร่วมกับMEA นำร่องเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นดิจิตอลมูลค่ากว่า 1.14 พันลบ.

275

มิติหุ้น – กิจการร่วมค้าฟอร์ทและยิบอินซอย ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA ลงนามสัญญา “โครงการ Smart Metro Grid ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแห่งอนาคตสำหรับเมืองมหานคร” มูลค่ากว่า 1,149 ล้านบาท แล้วเสร็จภายในปี2565 ยกระดับคุณภาพการบริการต่อผู้ใช้ไฟฟ้าและตอบสนองวิถีชีวิตและการใช้เทคโนโลยีในเมืองหลวง วางเป้าหมาย smart meter เฟสแรก 33,265 ชุด ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ MEA ก่อนขยายเพิ่มในอนาคต

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เปิดเผยถึงการลงนามสัญญาจัดทำ “โครงการ Smart Metro Grid ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแห่งอนาคตสำหรับเมืองมหานคร” กับกิจการร่วมค้าฟอร์ทและยิบอินซอย ว่า การร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการนำร่องที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โครงการนี้ฯ จะมี smart meter และการใช้เทคโนโลยีในการรับส่งข้อมูลและสถานะของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบได้แบบสองทาง (two-way communication) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งสามารถ monitor และแสดงผลได้ทันที (real time) ภายใต้งบประมาณจำนวนกว่า 1,149 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายในปี 2565 โดย MEA ได้ตั้งเป้าหมายในการเริ่มใช้ระบบ smart meter ไว้ที่ 33,265 ชุด ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ MEA ซึ่งการติดตั้งดังกล่าวผู้ใช้ไฟฟ้าจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าบริหารการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงโครงการนี้จะเป็นต้นแบบในการประเมินผลการใช้งาน ก่อนจะขยายการติดตั้ง smart meter ให้ครอบคลุมพื้นที่ความรับผิดชอบของ MEA ต่อไปในอนาคต


สำหรับโครงการนี้นอกจากจะช่วยให้ทราบถึงพลังงานไฟฟ้าที่จ่ายไปยังผู้ใช้ไฟฟ้า และเก็บข้อมูลพร้อมบันทึกการใช้พลังงานไฟฟ้าจาก smart meter ทั้งปัจจุบันและย้อนหลังเพื่อง่ายต่อการตรวจสอบแล้ว ยังสามารถหาสาเหตุของปัญหาเมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าแก้ไขได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงยังตรวจสอบการลักลอบใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ข้อมูลที่ละเอียดและเที่ยงตรงจาก smart meter จะถูกนำมาวิเคราะห์ว่าระบบไฟฟ้าอาจจะมีปัญหาที่พื้นที่ใดบ้าง เพื่อที่จะสามารถวางแผนและแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงนำมาใช้ในการวางแผนระบบไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับระบบไฟฟ้าในอนาคตที่มีความซับซ้อน และสอดรับกับแผนพัฒนา smart city ของรัฐบาล
ที่ผ่านมาทาง MEA ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี ได้ดำเนินการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้ล้ำสมัยเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อพัฒนาการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบงานต่าง ๆ ที่ใช้ภายใน MEA ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีความแม่นยำด้านข้อมูล และสามารถตรวจสอบได้ทันที

นายพงษ์ชัย อมตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) “FORTH” กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ ว่า บริษัทฯต้องขอบคุณทาง MEA ที่ไว้วางใจให้กิจการร่วมค้าฟอร์ทและยิบอินซอยเข้ารับงานจัดทำระบบ Smart Metro Grid โดย หลักสำคัญของระบบดังกล่าว คือ การสามารถรับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ปัญหาได้อย่างได้รวดเร็วกว่าระบบเดิมที่ต้องให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นผู้แจ้งกรณีมีเหตุขัดข้องเป็นหลัก ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ลดระยะเวลา และความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้

นอกเหนือจากการช่วยให้ MEA บริหารจัดการไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นการผสมผสานความเชี่ยวชาญหลากหลายด้านของ บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น และบจก.ยิบอินซอย ในนาม “กิจการร่วมค้าฟอร์ทและยิบอินซอย” ที่ร่วมทุนในอัตรา 50:50 โดยทั้งสองบริษัทมีประสบการณ์การทำงานทั้งซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ให้กับหน่วยงานต่างๆมาอย่างยาวนาน สามารถการันตีได้ถึงความเชี่ยวชาญ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในเรื่องของอุปกรณ์และเทคโนโลยีทีทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานที่จะส่งเสริมให้ MEA เป็นระบบดิจิทัลไลฟ์มากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในยุคประเทศไทย 4.0 และเปิดโอกาสให้เกิดธุรกิตต่อยอดต่างๆได้เข้ามามีบทบาทในการเพิ่มความสะดวกและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต่อไป

ด้านนางมรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด กล่าวว่า กิจการร่วมค้าฟอร์ทและยิบอินซอย ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการจัดทำระบบ Smart Metro Grid ที่เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบันที่เน้นเทคโนโลยีที่ทันสมัย แม่นยำ ด้วยการสื่อสารข้อมูลแบบสองทางทั้งรับและส่ง ทำให้สามารถตรวจสอบปริมาณการใช้ไฟฟ้าและความต้องการใช้ได้หลากหลาย อาทิ แบ่งตามกลุ่มลูกค้า เช่น กลุ่มลูกค้าขนาดเล็ก เช่น บ้านที่อยู่อาศัย ธุรกิจขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ระดับโรงงานอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งการใช้ไฟฟ้าเป็นช่วงเวลาในแต่ละวันได้อีกด้วย จุดนี้เองจะทำให้ MEA ทราบถึงพฤติกรรมความต้องการใช้ไฟฟ้าและจัดหาพลังงานไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจุดจ่ายไฟฟ้าที่สำคัญ เช่น หม้อแปลงไฟฟ้าที่ติดตั้งให้บริการตามถนนหนทางทั่วไป เป็นต้น รวมถึงเปิดโอกาสให้สามารถต่อยอดระบบไปเป็นบริการอื่นๆที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนในอนาคต

www.mitihoon.com