WICE ปี 63 ปีแห่งการเก็บเกี่ยว ตั้งเป้ารายได้โต 20% แตะ 2,700 ล้านบาท

426

มิติหุ้น – WICE ปี 63 ปีแห่งการเก็บเกี่ยว ตั้งเป้ารายได้โต 20% แตะ 2,700 ล้านบาท ชูกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าอุตสาหกรรมการบิน และนำเข้าสินค้าค้าปลีก ลุยขยายงานร่วมกับบริษัทในเครือ อัพฐานลูกค้าตลาดจีน ปั๊มรายได้เข้าพอร์ต เน้นเพิ่มความสามารถการทำกำไร ส่องภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์สดใส โชว์จุดแข็งบริการครบวงจร มีเครือข่ายรองรับทุกประเทศการค้าสำคัญ

นายชูเดช คงสุนทร กรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ไวส์ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน)( WICE ) ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 2563 เติบโต 20% หรือรายได้รวมอยู่ที่ 2,700 ล้านบาท ถือเป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยวรายได้ของ WICE เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัทที่ได้เข้าไปลงทุนขยายเครือข่ายโลจิสติกส์ก่อนหน้านี้ ทั้ง WICE Logistics (Singapore) Pte.Ltd. (WICE SG) ,WICE Logistics (Hong Kong) Ltd. ( WICE HK ), EUROASIA TOTAL LOGISTICS CO., LTD. (ETL), WICE Logistics (Shenzhen) Company Ltd. (WICE SZ) และ WICE Supply Chain Solutions มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารจัดการที่ดีของ WICE ส่งผลให้การดำเนินงานของบริษัทเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินงานในปีนี้ บริษัทวางแผนขยายฐานลูกค้าไปยังอุตสาหกรรมที่หลากหลาย และอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีของประเทศ หรืออุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงค์จากภาครัฐ อาทิ อุตสาหกรรมการบิน (Aerospace) และสินค้านำเข้าธุรกิจค้าปลีก (Retail Market) เนื่องจากบริษัทเห็นความต้องการใช้บริการ    โลจิสติกส์ของอุตสาหกรรมดังกล่าวมีปริมาณสูง จึงวางแนวทางเข้าไปรับงานขนส่ง เพื่อสร้างโอกาสใหม่และรายได้ให้กับธุรกิจ

ขณะเดียวกัน บริษัทจะมุ่งเน้นการเพิ่มความสามารถการทำกำไรให้สูงขึ้น  โดยเตรียมปรับแนวทางการบริหารจัดการในธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ขนส่งข้ามพรมแดน (Cross – Border Transport Services) ภายใต้การบริหารงานของบริษัทเครือข่าย EUROASIA TOTAL LOGISTICS CO., LTD. (ETL) จากเดิมที่มีต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะในปี 2562 เป็นช่วงเริ่มต้นจัดตั้งบริษัท และสินค้าเที่ยวขากลับยังมีปริมาณไม่สูงมากนัก บริษัทจึงวางแผนลดต้นทุน และบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมทั้งขยายการให้บริการขนส่งสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง และเพิ่มปริมาณสินค้าเที่ยวขากลับให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถการทำกำไรดังกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทวางแผนจะขยายการให้บริการโลจิสติกส์ในครอบคลุมทุกรูปแบบ ทั้งการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศในรูปแบบต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้า ผ่านการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายสาขาของ WICE ทั้งหมด โดยมุ่งเน้นตลาดจีนเป็นหลัก ทั้งในฮ่องกง เซียงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าขนาดกลางและขนาดเล็กเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มลูกค้าดังกล่าว มีโอกาสย้ายฐานการผลิตมายังไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ WICE ได้วางกลยุทธ์เข้าไปขยายตลาดในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วก่อนหน้านี้ ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการขนส่งโลจิสติกส์ระหว่างประเทศของ WICE ในตลาดจีน ทำให้บริษัทมีโอกาสในการขยายฐานลูกค้าในจีนมากขึ้น และมีโอกาสรับงานขนส่งขาไปและขากลับได้  ส่งผลให้มีปริมาณงานในจีนเพิ่มขึ้น

ด้านการดำเนินงานของ WICE Supply Chain Solutions บริษัทย่อย ให้บริการด้าน Supply Chain ครบวงจร ทั้งงานคลังสินค้า การกระจายสินค้า การขนส่งสินค้า (Equipment) ขนาดใหญ่ มีแนวโน้มที่ดี จากการขยายตัวของปริมาณงานบริหารจัดการคลังสินค้า และการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกออก (EEC) ประกอบกับผู้นำเข้าส่งออกในปัจจุบันหันมาใช้บริการในรูปแบบ Third Party Logistics  มากขึ้น ทั้งนี้ บริษัทมีพื้นที่ให้บริการคลังสินค้าจำนวน 1 แห่ง ขนาด 15,000 ตร.ม.

“ภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ในปีนี้ มองว่ามีแนวโน้มดีขึ้น แม้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่ชัดเจน แต่ก็เริ่มเห็นความคลี่คลายในบางเรื่องบ้างแล้ว ทั้งปัญหาสงครามการค้า ม็อบฮ่องกง เงินบาทแข็งค่า และภาคการส่งออกชะลอตัว ภาวะการแข่งขันของธุรกิจโลจิสติกส์ที่สูงในปัจจุบัน ทำให้ WICE มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การให้บริการอยู่ตลอดเวลา และสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความได้เปรียบทางการแข่งขัน คือ WICE มีความหลากหลายของการให้บริการที่ครบวงจร เข้าใจความต้องการของลูกค้าเสมอ และยังมีข้อได้เปรียบจากการมีเครือข่ายโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมเชื่อมโยงสู่ประเทศต่าง ๆ  เพื่อการกระจายความเสี่ยง ถือเป็นการยกระดับสู่การเป็นผู้นำโลจิสติกส์ในภูมิภาคเอเชีย” นายชูเดชกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าสร้างโครงข่ายพันธมิตรโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ และสร้างการเติบโตร่วมกันในอนาคต ขณะที่ปัจจุบันสัดส่วนรายได้มาจากการงานบริการทางอากาศ (Air Freight) 35%, การขนส่งทางทะเล (Sea Freight) 30%, ขนส่งสินค้าข้ามชายแดน  (Cross border) 19% , และงาน Logistics 16%

www.mitihoon.com