ADVANC ผนึก SCC – ม.อ. ปักหมุดใช้งานจริง 5G ในภาคอุตสาหกรรม

114

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC โดยนายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส เปิดเผยว่า “เอไอเอส” และ “เอสซีจี” พร้อมด้วยภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ ผนึกกำลังร่วมทดลองทดสอบการใช้งานจริง 5G ในภาคอุตสาหกรรมได้สำเร็จ เป็นรายแรกของไทย ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช. นำเทคโนโลยี 5G ยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 โดยร่วมกันพัฒนารถยกต้นแบบให้สามารถควบคุมผ่านระยะไกลบนเครือข่าย 5G จากเอสซีจี สำนักงานใหญ่บางซื่อ กรุงเทพฯ – โรงงานของเอสซีจี จ. สระบุรี โดยผู้ควบคุมรถ ไม่ต้องอยู่ที่เดียวกับรถ แต่สามารถควบคุมรถให้เคลื่อนย้ายสิ่งของจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดที่ต้องการได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ ช่วยเพิ่มผลิตผลให้ธุรกิจ สามารถต่อยอดไปสู่การฝึกอบรมพนักงานทางไกล และเพิ่มความปลอดภัยในงานที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งถือเป็นต้นแบบให้อุตสาหกรรมต่างๆ ใประเทศไทย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงกับธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้

พร้อมกันนี้ AIS  และ SCC ยังได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในการร่วมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเครือข่าย 5G ในโครงการอื่นๆ ตลอดจนร่วมพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพพร้อมแข่งขันบนโลกยุคดิจิทัล เป้าหมายเพื่อร่วมกันสร้าง 5G Ecosystem ของการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน ช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย และคุณภาพชีวิตของคนไทยไปอีกขั้น มุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่Thailand 4.0

สำหรับความร่วมมือระหว่าง ADVANC , เอสซีจี และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในครั้งนี้ จึงถือเป็นก้าวย่างสำคัญของการทดสอบ 5G ในภาคอุตสาหกรรมไทย
ซึ่งได้ร่วมคิดค้นและพัฒนาโซลูชั่นในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตด้วย 5G ทดลองทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง บนคลื่นความถี่ 2.6 GHz ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช. เป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็น Use Case จริงที่สามารถนำไปต่อยอดใช้งานได้จริงในอนาคต ผ่านการสาธิตการบังคับรถยกของ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกล จากกรุงเทพฯ – สระบุรี เป็นครั้งแรกของภาคอุตสาหกรรมของไทย ทำให้เชื่อมั่นได้ว่า เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจของไทยได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม การพัฒนานวัตกรรม 5G ยังมีองค์ประกอบและปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ อีกหลายด้าน ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใน Ecosystem ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม 5G เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันในเวทีโลก พร้อมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป

ด้านนายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ผู้อำนวยการโครงการระบบอัตโนมัติและอุตสาหกรรม 4.0 เอสซีจี กล่าวถึงความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ว่า “เอสซีจี มุ่งปรับเปลี่ยนการดำเนินงานด้านต่างๆ ในทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง แพคเกจจิ้ง และเคมิคอลส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้องค์กรเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยจัดตั้งคณะทำงานด้าน Mechanization, Automation and Robotics (MARs) และ Industry 4.0 ขึ้น ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ด้วยการนำเทคโนโลยีด้าน MARs และ Industry 4.0 มาผสมผสานกัน โดยใช้เงินลงทุนกว่า 860 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 จนออกมาเป็นโซลูชันต่างๆ อาทิ การแจ้งเตือนเครื่องจักรก่อนการซ่อมบำรุง (Smart Maintenance) การใช้หุ่นยนต์ในห้องปฏิบัติการด้านการตรวจวัด (Smart Laboratory)
การทำระบบจ่ายปูนให้ลูกค้าแบบอัตโนมัติ (Smart Dispatching) และการเชื่อมโยงข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ทุกคนเห็นข้อมูลเดียวกันที่ถูกต้องและนำมาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจ รวมทั้งตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น

สำหรับโครงการ “การพัฒนารถ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกลด้วยเครือข่าย 5G” ดังกล่าว เริ่มดำเนินการที่โรงงานของเอสซีจี ใน จ.สระบุรี เป็นแห่งแรก เพราะมีการเคลื่อนย้ายทั้งวัตถุดิบและสินค้าโดยใช้รถ Forklift เพื่ออำนวยความสะดวกจำนวนมาก อีกทั้งรถ Forklift ยังเป็น material mobility ที่ควบคุมได้ง่ายที่สุด ก่อนจะต่อยอดไปทดลองกับเครื่องมืออื่นๆ ในอนาคต ซึ่งการนำเครือข่าย 5G ที่มีความรวดเร็วในการตอบสนองแบบเรียลไทม์ และมีความแม่นยำในการส่งผ่านข้อมูลที่จำเป็นสำหรับระบบอัตโนมัติขั้นสูงมาใช้นั้น จะช่วยตอบโจทย์ของเอสซีจี ทั้งการมีผลิตผลที่มากขึ้นเพราะพนักงานสามารถควบคุมรถจากที่ใดก็ได้ อีกทั้งยังสามารถฝึกอบรมการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ให้กับพนักงานที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่หน้างาน

ส่วนทิศทางของเอสซีจีในการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้เสริมขีดความสามารถของธุรกิจในอนาคตนั้น สามารถเป็นไปได้ทั้งการเพิ่มความปลอดภัยในงานที่มีความเสี่ยง เช่น การทำงานของเครื่องจักรบริเวณเหมืองและเตาเผาปูนซีเมนต์การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น การเพิ่มความเร็วในส่งผ่านข้อมูลขนาดใหญ่จากโรงงานในหลากหลายพื้นที่มายังศูนย์ควบคุมส่วนกลางเพื่อให้บริหารจัดการข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ และการเสริมประสิทธิภาพให้ธุรกิจโลจิสติกส์

www.mitihoon.com