กัลฟ์-ปตท.ฉลุย..แหลมฉบังเฟส 3

620

 

หลายคนที่ได้ติดตามคดีประมูลท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีการฟ้องร้องของกลุ่มเอกชนที่เข้าร่วมประมูลในนาม “กิจการร่วมค้าเอ็นซีพี” ที่ฟ้องร้อง “คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน” ในโครงการดังกล่าวเนื่องจากถูกปรับตกไม่ผ่านการประเมินในขั้นตอนการพิจารณาเอกสาร ก่อนที่บริษัทจะลุกขึ้นมาฟ้อนเงี้ยวร้องศาลขอคุ้มครอง จนทำให้คณะกรรมการคัดเลือกติดหล่มคำสั่งคุ้มครองไม่สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้

ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดได้ชี้ขาดเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นในการขอทุเลาการบังคับตามมติของคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกตามคำขอของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เนื่องจากยังไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลปกครองจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับได้ ส่งผลให้ส่อแววหมดสิทธิ์ประมูลท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 แต่ยังได้ไปลุ้นคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 นี้ว่า จะได้สิทธิ์เข้าไปร่วมประมูลหรือไม่หรือจะยืนตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกที่ให้ปรับตกของกลุ่มเอ็นซีพี

ศาลปกครองสูงสุดยกคำร้อง NCP

ทั้งนี้ เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ยกคำขอของกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ที่ขอกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาในการทุเลาการบังคับตามคำสั่งคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ให้กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 (ซองคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการฯ) ในการเสนอตัวร่วมลงทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนท่าเทียบเรือ F

ทั้งนี้การมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯ ที่ให้กิจการร่วมค้าเอ็นซีพีเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารซองที่ 2 ซองคุณสมบัติของผู้เสนอโครงการจะเป็นอุปสรรคต่อโครงการพัฒนาขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบังและต่อการบริหารงานรัฐ และหากในภายหลังศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกฯผู้ถูกฟ้องคดีเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ทางกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ย่อมสามารถใช้สิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้อยู่แล้ว

อีกทั้งกรณีตามคำขอของกลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี ยังไม่เข้าเงื่อนไขในการที่ศาลปกครองจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครองได้ จึงให้ยกคำขอกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาในการทุเลาการบังคับตามคำสั่งคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3  ทำให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกสามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้

หวั่นกระทบศักยภาพแหลมฉบัง!

ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 เห็นว่า การที่กิจการร่วมค้าเอ็นซีพีได้ร่วมกันยื่นข้อเสนอ โดยระบุรายชื่อ-ตำแหน่งของตัวแทนหรือผู้แทน โดยที่ตัวแทนหรือผู้แทนไม่ได้ลงลายมือชื่อในช่องที่แบบเอกสารภาคผนวก 16-ฌ กำหนด (แบบเอกสาร 16-ฌ เป็นเอกสารที่ให้สมาชิกผู้ร่วมลงทุนแสดงความรับผิดชอบร่วมกันหรือแทนกัน) แต่ได้ลงลายมือชื่อในที่ว่างด้านล่างของแผ่นกระดาษแทนนั้น เป็นเพียงการเสนอรายละเอียดแตกต่างไปจากเงื่อนไขที่กำหนดในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ไม่มีผลทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่นแต่อย่างใด คณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จึงไม่อาจตัดสิทธิ์กลุ่มบริษัทดังกล่าวได้ จึงให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ให้กลุ่มบริษัทในนามกิจการร่วมค้าเอ็นซีพี เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 และให้ทุเลาการบังคับคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าคดีจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยให้ยกฟ้องคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ และคำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดได้ยกคำขอทุเลาการบังคับคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯด้วยเห็นว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเรือ F มีความจำเป็นเร่งด่วนทั้งในส่วนของการคัดเลือกเอกชนเพื่อให้ได้ผู้ร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว เนื่องจากในปี 2559 มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือ 7.06 ล้านตู้ TEU ทำให้การขนส่งสินค้าจะเต็มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงการดังกล่าวเพื่อให้ได้ผู้ร่วมลงทุนภายในปี 2562 เมื่อพิจารณาความจำเป็นโดยเร่งด่วนในการดำเนินการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังตามโครงการดังกล่าวเพื่อรองรับการขยายตัวของการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นแล้ว หากมีการดำเนินการที่ล่าช้าออกไปย่อมส่งผลกระทบต่อการบริหารงานของรัฐ รวมทั้งต่อการจัดทำบริการสาธารณะของรัฐ ส่วนการอุทธรณ์เนื้อหาคดีหลักนั้นศาลจะมีคำพิพากษาในภายหลัง

แม้จะไปลุ้นคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดต่อการตัดสิทธิ์กลุ่มกิจการร่วมค้าเอ็นซีพีลงไปว่า ท้ายที่สุดจะยังได้รับโอกาสให้กลับมาร่วมวงไพบูลย์หรือไม่ แต่คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ให้ยกคำขอทุเลาการบังคับตามผลชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก และให้สามารถเดินหน้าพิจารณาเปิดซองราคาผู้เสนอตัวเข้าร่วมลงทุนได้ต่อไปนั้น อย่างน้อยก็ทำให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกสามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้  เพราะยิ่งล่าช้า ยิ่งส่งผลต่อศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง

ก่อนหน้านี้กิจการร่วมค้า NCP ได้ออกตีปี๊บ เรื่องที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้คืนสิทธิ์แก่กลุ่มให้เข้าร่วมประมูล พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มูลค่ากว่า 84,361 ล้านบาท แต่เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้กลับคำสั่งของศาลปกครองกลาง และเปิดทางให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกเดินหน้า พิจารณาโครงการต่อไป จึงทำให้ คณะกรรมการสามารถที่จะเดินหน้าเจรจากับ กลุ่มกิจการร่วมค้าจีพีซี ที่ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, บจ. แทงค์เทอร์มินัลและบจ. China Harbour engineering จากประเทศจีน

โดยเนตรทิพย์กระพริบข่าวร้อน

ที่มา : http://www.natethip.com/news.php?id=1675

www.mitihoon.com