ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เผย 3 ปัจจัยลบ “วิกฤตไวรัส-งบล่าช้า-ภัยแล้ง” กดดันเศรษฐกิจไทยสูญกว่า 2.8 แสนล้านบาท ฉุดเศรษฐกิจปี 63 โตแค่ 1.7-2.1%

371

มิติหุ้น – ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics (ทีเอ็มบี อนาลิติกส์) เผยเศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ความล่าช้าของงบประมาณปี 63 และภัยแล้งรุนแรง สร้างความเสียหายกว่า 2.8 แสนล้านบาท ฉุดเศรษฐกิจร่วงโตแค่ 1.7- 2.1% จากเดิมคาด 2.7%

“วิกฤติไวรัสส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและส่งออกไทยเสียหาย 1.5 แสนล้านบาท” สถานการณ์ล่าสุดองค์กรอนามัยโลกประกาศการระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นภัยฉุกเฉินสากล (PHEIC) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไม่ให้ลามไปทั่วโลก และรัฐบาลจีนยังเดินหน้าใช้มาตรการป้องกันการลุกลามอย่างเข้มงวด ทำให้เรายังคงประเมินในในผลกระทบความรุนแรงจากไวรัสครั้งนี้อยู่ในวงจำกัด โดยผลกระทบรุนแรงจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน และการส่งออกไปจีนจะเกิดขึ้นในไตรมาสแรก และมีแนวโน้มปรับดีขึ้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2563 อยู่ที่ 38.7 ล้านคน รายได้ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวข้องลดลง 1 แสนล้านบาท รวมทั้งยอดส่งออกไปจีนจะลดลง 2.8 หมื่นล้านบาท ฉุดภาพรวมส่งออกทั้งปี 63 เติบโตลดลงเหลือ 0.6% จากเดิมมองที่ 1.2%

 เม็ดเงินลงทุนสะดุด 6.6 หมื่นล้านบาทจากความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 ฉุดการลงทุนภาครัฐโตแค่ 2 %  โดยการเบิกจ่ายงบลงทุนในไตรมาสแรกของปี 63 จะอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 แต่มีแนวโน้มที่งบลงทุนในช่วงที่เหลือของปีจะเบิกจ่ายได้ในอัตราเร่งขึ้น ภายใต้เงื่อนไขกระบวนการเบิกจ่ายงบประมาณสามารถทำได้ภายในไตรมาสสอง ส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีนี้จะอยู่ที่ 60% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 70%ของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี คาดเม็ดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะสามารถเบิกจ่ายในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐโดยรวมเติบโตลดลงเหลือ 2% จากเดิมคาด 6%

 ประเมินภัยแล้งที่เกิดขึ้นเร็วและรุนแรงสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ 6 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ฝนแล้งจะยาวนานจนถึงเดือนมิถุนายน โดยปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าปกติ 10% ในทุกภาค และปริมาณน้ำในเขื่อนเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ระดับ 43% ใกล้เคียงกับกับปี 2548 ที่เกิดวิกฤตภัยแล้งที่มีความรุนแรงมากสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลต่อรายได้ภาคเกษตร และปัจจัยที่กดดันการบริโภคภาคเอกชนให้มีแนวโน้มชะลอลง

 คาดมาตรการพยุงเศรษฐกิจ ชดเชยผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงได้ราว 0.2%  เริ่มจากมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรเป็นเม็ดเงินรวมประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรสำคัญทั้งข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย ล่าสุดครม.อนุมัติมาตรการทางการเงิน ซึ่งเน้นช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินของรัฐ และมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ

จาก 3 ปัจจัยลบที่กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ แม้มีมาตรการรัฐเข้าพยุง เชื่อว่าจะไม่สามารถชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 2.7% เหลือ 1.7-2.1%

www.mitihoon.com