มิติหุ้น – วันที่ 5 ก.พ. 2563 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวง ดีอีเอส) และคณะได้เข้าร่วมประชุมหารือกับพลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กสทช. และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เรื่องนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยี 5G เพื่อให้ลงสู่ทุกภาคส่วนของสังคมให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการจัดประมูลคลื่น 5G นอกจากจะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจอย่างมากแล้ว สิ่งที่รัฐบาลมีความกังวลและห่วงใยมากที่สุดคือ นั่นคือจะนำเทคโนโลยี 5G ไปใช้งานต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับประชาชนได้โดยเร็วที่สุดได้เมื่อใด รัฐบาลมีความมุ่งหวังว่า กสทช. ภาคเอกชน จะช่วยกันผลักดันให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยี 5G โดยเร็ว โดยรัฐบาลเองพร้อมให้การสนับสนุนให้ กระทรวง ทบวง กรม และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันในการดำเนินการให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยี 5G อย่างเต็มที่ รัฐบาลต้องการเห็นการใช้งานเทคโนโลยี 5G เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านที่สำคัญอย่างยั่งยืน อาทิ ภาคสาธารณสุข รัฐบาลอยากให้เกิดระบบโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) โดยเฉพาะในกลุ่มโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ในการรักษาทางไกลด้วยเทคโนโลยี 5G สำหรับ 4 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดัน โรคตา และผิวหนัง ประชาชนสามารถรับการวินิจฉัยโรคและขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ช่วยให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าเดินทาง ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการทางการแพทย์
พลเอกประวิตร ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า สำหรับภาคการเกษตร รัฐบาลต้องการให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เป็นสมาร์ทฟาร์มมิ่ง (smart farming) ในการวางแผนการผลิตและบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ภาคการศึกษา รัฐบาลส่งเสริมให้มีการยกระดับการศึกษา มาโดยตลอด และหวังว่า 5G จะเกิดประโยชน์ในการส่งเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานสูง จากผู้เชี่ยวชาญ และสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับอย่างทั่วกัน ในส่วนของด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องการให้มีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ โอกาส และรายได้ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน การส่งเสริมให้มี Start Up ในท้องถิ่นเพื่อการส่งเสริมให้ประชาชนได้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพของชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มจากการพัฒนาจากชุมชนท้องถิ่นไปสู่ระดับชาติ โดยการพัฒนาจากฐานของศักยภาพของท้องถิ่น ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้ว เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคชนบท ไปสู่ระดับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป แต่ทั้งนี้การนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานของประชาชน อันเป็นรากฐานที่แข็งแรงของเศรษฐกิจไทยในอนาคตด้วย
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ในวันนี้ สำนักงาน กสทช. ได้รายงานความคืบหน้าของการประมูล 5G ที่วานนี้สำนักงานฯ ได้เปิดให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz โดยมีผู้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตทั้งหมด จำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และได้รายงานกระบวนการต่างๆ หลังจากนี้ โดยสำนักงาน กสทช. จะดำเนินการพิจารณาคุณสมบัติ และจะมีการชี้แจงรายละเอียดและการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) ในวันที่ 10 และ 14 ก.พ. 2563 โดยจะจัดการประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 2563
สำนักงาน กสทช. รับทราบนโยบายของรัฐบาล และพร้อมดำเนินการสนับสนุน ผลักดันนโยบายของรัฐบาลเหล่านั้นเกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเสนอให้มีการผลักดันคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G เพื่อต่อยอดการใช้งานเทคโนโลยี 5G ให้เกิดการใช้งานในภาคการผลิต-อุตสาหกรรม ขนส่ง การแพทย์ การศึกษา การเกษตร และด้านอื่นๆ เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพิ่มศักยภาพของประเทศพร้อมรองรับการย้ายฐาน เพื่อให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกที่ดีในการลงทุน เพื่อสร้างโอกาส สร้างเศรษฐกิจใหม่
เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หัวข้อสำคัญที่สำนักงาน กสทช. นำเสนอในที่ประชุมหารือในวันนี้ ได้แก่ 1.นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยเทคโนโลยี 5G เพื่อลงสู่ทุกภาคส่วนของสังคมให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว 2.รายงานความคืบหน้าการประมูล 5G 3.ประโยชน์ที่จะได้รับจากการประมูล 5G และ 4.ข้อเสนอของสำนักงาน กสทช. ให้จัดตั้งคณะกรรมการ 5G แห่งชาติเพื่อขับเคลื่อน 5G ให้เกิดการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเสนอให้ผู้ชนะการประมูลเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย เพื่อจะได้นำนโยบายและแนวทางต่างๆ ไปดำเนินการได้ในทันที ซึ่งข้อมูลทั้งหมดดังกล่าว สำนักงาน กสทช. มองว่าจะเป็นแนวทางที่ดำเนินการแล้ว จะช่วยการต่อยอดให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย เมื่อ 5G ได้รับการผลักดันจากรัฐบาล กระทรวง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม และผู้ประกอบการในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงนักลงทุน บริษัทจากต่างประเทศ มั่นใจที่จะลงทุนในประเทศไทย จะทำให้มีการลงทุนทั้งจากภาครัฐในการใช้เทคโนโลยี 5G ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการทำ SMART HOSPITAL SMART FARMING ระบบ LOGISTIC ระการศึกษาทางไกล การเข้าถึงข้อมูลของประชาชน การต่อยอดของการบริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล และภาคเอกชนในการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในการผลิต ในการขนส่ง การเงิน-การธนาคาร และในการให้บริการต่างๆ ทุกสิ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวมากขึ้น เติบโตมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการประมาณการของสำนักงาน กสทช. พบว่าเมื่อมี 5G เกิดขึ้น ในเบื้องต้นจะทำให้จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ราว 177,039 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.02 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ ส่วนปี 2564 เมื่อภาคเอกชนเพิ่มขนาดการลงทุนในคลื่น 5G จะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 332,000 ล้านบาท และในปี 2565 ผลของการประมูลคลื่น 5G จะเกิดมูลค่าเพิ่มอีก 476,000 ล้านบาท รวมแล้วปี 2563-2565 5G จะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 985,720 ล้านบาท ซึ่งหากการขับเคลื่อนของคณะกรรมการ 5G แห่งชาติประสบผลสำเร็จตามแนวทางที่วางไว้ตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการไว้ เนื่องจากมูลค่าการใช้งาน 5G เพิ่มสูงขึ้นจากประมาณการของสำนักงาน กสทช.
www.mitihoon.com