มิติหุ้น-บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า จากกรณีที่เมื่อวานนี้(4ก.พ.63) เป็นวันสุดท้ายของการซื้อซองประมูลคลื่น 5G ที่กสทช. จะจัดประมูล 16 ก.พ. นี้ ซึ่งจะประกอบด้วย 4 คลื่น คือ 700,1800,2600 MHz และ 26 GHz รวม 56 ใบอนุญาต ปรากฎว่า ไม่มีผู้ประกอบการรายอื่นๆ มาซื้อซองเพิ่มแล้ว นอกเหนือจาก 5 ราย คือ ADVANC, DTAC, TRUE, TOT และ CAT ที่ซื้อไปในช่วงก่อนหน้านี้ โดยรวมน่าจะเป็นเรื่องที่ดีต่ออุตสาหกรรมในแง่จำนวนผู้ประกอบการที่ยังน่ามีน้อยราย คือ มีเอกชน 3 รายเดิมเป็นรายหลัก ส่วน CAT และ TOT เป็นรายเล็ก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังต้องติดตามในวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ กสทช. เปิดรับเอกสารแจ้งความจำนงร่วมประมูลตั้งแต่ 8:30-16:30 หลังจากนั้น กสทช. ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ 11 ก.พ. 63 และประมูล 16 ก.พ. 63 โดยในวันนี้จุดสำคัญอยู่ที่ผู้ร่วมประมูลจะต้องแจ้งความจำนงถึงคลื่นที่ต้องการเข้าร่วม หากมีการเปิดเผยเชื่อว่าน่าจะสามารถบ่งชี้ทิศทางอุตสาหกรรมหลังการประมูลได้ระดับหนึ่ง
“TOT-CAT”หวังประมูลคลื่น 700 MHz
ฝ่ายวิจัยยังคงคาดว่า TOT และ CAT จะมุ่งไปที่คลื่น 700 MHz ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นเรื่องความครอบคลุม เพื่อนำไปให้บริการสาธารณะตามความต้องการของรัฐฯ จึงไม่น่ามาข้องเกี่ยวกับการแข่งขันในส่วนเอกชน และยังน่าจะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กต่อไป ส่วนเอกชนทั้ง 3 ราย คาดจะร่วมประมูล 2600 MHz และ 26 GHz ที่ใช้ให้บริการ 5G ได้ และราคาตั้งต้นสมเหตุสมผล โดยในกรณีดังกล่าวประเมินจะเป็นกลางต่ออุตสาหกรรม เนื่องจากโอกาสที่ความสมดุลคลื่นในมือที่แต่ละรายมีน่าจะคงอยู่ต่อจากปัจจุบัน ที่ทุกรายมีคลื่นสอดคล้องกับฐานลูกค้า (ADVANC : 120 MHz, DTAC : 110 MHz และ TRUE – 110 MHz)ซึ่งหากเป็นไปตามกรณีดังกล่าว ประเมินจะส่งผลให้ผลประกอบการกลุ่มสะดุดสั้นๆใน 1-2 ปีข้างหน้า จากต้นทุนคลื่นที่เข้ามาใหม่ หากเป็นไปตามคาด ประเมินจะส่งผลให้กำไรกลุ่มสะดุดใน 1-2 ปีข้างหน้า จากต้นทุนคลื่นใหม่ หากรายได้หลักยังอยู่ที่ 4G ส่วนกำไรจะฟื้นตัวได้เร็วกว่านั้นหรือไม่ ขึ้นกับการนำคลื่น 5G ไปหารายได้เป็นสำคัญ
จับตาท่าที DTAC ประมูล 5จี
อย่างไรก็ตาม ประเด็นความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมที่อาจจะต้องติดตามวันนี้ มี 2 ประเด็น 1. ท่าทีของ DTAC ซึ่งหากไม่เข้าร่วมประมูล แม้อาจเป็นบวกต่อ ADVANC และ TRUE ในระยะสั้น จากโอกาสแย่งลูกค้า แต่เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีต่ออุตสาหกรรมในระยะกลาง-ยาว เนื่องจากอาจนำมาสู่การแข่งขันด้านราคาดังเช่นช่วงปี 2559-61 ซึ่ง DTAC ขาดแคลนคลื่น 4G และอาจจะนำมาสู่ความเสี่ยงการปรับลดสมมติฐานรายได้ของกลุ่มได้
2.การพลิกไปเข้าร่วมประมูล 2600 MHz ของ CAT และ TOT หากร่วมประมูลจะถือเป็นความเสี่ยงต่อราคาประมูลที่อาจจะสูงกว่าที่ฝ่ายวิจัยประเมินใกล้เคียงราคาตั้งต้น และยิ่งทำให้ Downside จากต้นทุนคลื่นใหม่สูงขึ้น และหาก CAT และ TOT ประมูลคลื่น 2600 MHz จนไม่เพียงพอสำหรับเอกชน 3 ราย อาจนำมาสู่สภาวะอุตสาหกรรมที่จะเสียสมดุลปริมาณคลื่นความถี่ที่มี และนำมาสู่การแข่งขันเพิ่มขึ้นได้
ADVANC เด่นสุดในกลุ่ม
โดยรวมแล้ว เนื่องจากยังต้องติดตามพัฒนาการประมูล 5G ต่อ จึงยังให้ลงทุน เท่าตลาด ฝ่ายวิจัยยังชื่นชอบ ADVANC(FV@B270) มากสุด โดยเชื่อผู้ที่ได้ประโยชน์จากการประมูลมากสุดด้วย จากโอกาสได้ปิดข้อเสียเปรียบในยุค 3G 4G ที่ขาดแคลนคลื่น และต้องมีต้นทุนรักษาลูกค้าจากการให้บริการหลังรายอื่น นอกจากนี้ ยังถือเป็นรายที่มั่นคงมีฐานกำไรสูง พร้อมรองรับภาระต้นทุนคลื่นได้ดีสุด
เช่นเดียวกับบทวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ระบุว่า จาการที่ตลาดจะตอบรับเชิงบวกจากข่าวที่มีภาคเอกชน เพียง 5 ราย เช้ารับซองเพื่อประมูล 5 G(เดิมตลาดคาดจะมีเอกชนรายใหม่เข้าร่วมประมูลนอกเหนือจาก 5 รายนี้) ขณะเดียวกันราคาหุ้น ADVANC ที่ลงกว่า 9 % ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนปัจจัยลบจากข่าวอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ ADVANC จ่ายค่าเสียหายให้ TOT มูลค่า 3.1 หมื่นลบ.ไปแล้ว แนะนำ “ซื้อ” เป้า 257 บาท/หุ้น
www.mitihoon.com