เปิดยุทธศาสตร์ “โกลด์ซิตี้” ฉลองใหญ่ครบรอบ 70 ปี ทรานฟอร์มธุรกิจ 360 องศา รีเทิร์นตลาดทวงบัลลังก์แชมป์รองเท้านักเรียน พร้อมขยายไลน์รุกหนักกลุ่มรองเท้าไลฟ์สไตล์ ปั้นแบรนด์ใหม่เจาะตลาดพรีเมี่ยม เดินหน้าสยายปีกรุกตลาดไทย-ต่างประเทศเต็มสูบ มั่นใจสิ้นปีกวาดรายได้ทะลุ 550 ล้านบาทในกลุ่มรองเท้าผ้าใบ
นายสุเมธ จินาพันธ์ กรรมการบริหาร บริษัท โกลด์ซิตี้ ฟุตเทค จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้า ภายใต้แบรนด์ “โกลด์ซิตี้” (GOLDCITY) เปิดเผยว่า ในวาระครบรอบ 70 ปีของโกลด์ซิตี้ บริษัทมีนโยบายเดินหน้าสร้างแบรนด์ “โกลด์ซิตี้” เพื่อรุกตลาดรองเท้าเมืองไทยเต็มรูปแบบ ตอกย้ำความเป็นผู้ริเริ่มผลิตรองเท้า และสร้างตลาดรองเท้านักเรียนจนเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเริ่มตั้งแต่การควบรวมกิจการให้เป็นหนึ่งเดียว ทั้งในส่วนของการผลิต การขาย และการตลาด เพื่อให้บริหารจัดการได้สะดวก รวดเร็ว รวมทั้งเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่องในตลาดรองเท้าเมืองไทย
ขณะเดียวกันบริษัทได้ปรับเปลี่ยนตราสินค้า (โลโก้) ใหม่โดยเปลี่ยนตัวอักษรภาษาอังกฤษ ภายใต้ชื่อ “GOLDCITY” เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด เพื่อให้ทันสมัย โดดเด่น พร้อมปรับโทนสีให้เหมาะสมกับเทรนด์โลก และปรับการวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ (Brand Positioning) และสร้างการรับรู้ (Brand Awareness) ถึงศักยภาพและผลิตภัณฑ์ของโกลด์ซิตี้ว่า ไม่ใช่โดดเด่นเฉพาะรองเท้านักเรียนเท่านั้น แต่ปัจจุบันโกลด์ซิตี้ เป็นผู้ผลิตรองเท้าแฟชั่น รองเท้ากีฬา และรองเท้าอื่นๆจำนวนมาก ทั้งภายใต้แบรนด์ของตนเองและการรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับแบรนด์อื่นทั้งในไทยและต่างประเทศทั่วโลก อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา แอฟริกา และประเทศในแถบยุโรป เป็นต้น
โดยปัจจุบันโกลด์ซิตี้ ถือเป็นผู้ผลิตที่ได้รับการยอมรับถึงมาตรฐานระดับโลก โดยมีใบรับรองการผลิตจากหน่วยงานต่างๆ ทั้ง ISO9001 และ มอก. นอกจากนี้ยังมีแผนกวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อศึกษาและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดีไซน์ การผลิต เพื่อตอบโจกย์ความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย
ด้านกลยุทธ์การตลาดจะมุ่งเน้นการสื่อสารเพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้แบรนด์ (Brand Identity) ถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตรองเท้าระดับแนวหน้าของประเทศ ด้วยศักยภาพที่เป็นผู้พัฒนาและผลิตรองเท้ารูปแบบต่างๆ มายาวนานที่สุดในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีแบรนด์สินค้าครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ “โกลด์ซิตี้” (GOLDCITY) แบรนด์รองเท้าที่สามารถตอบสนองได้ทุกไลฟ์สไตล์ “จี-พลัส” (G-PLUS) แบรนด์รองเท้าสำหรับผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง ตั้งแต่ระดับ B-A+ หรือตลาดพรีเมี่ยม และ “ฟาสต์” (FAST) แบรนด์รองเท้าสำหรับผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อระดับปานกลาง ตั้งแต่ระดับ C-B+ พร้อมนำเสนอข้อมูลสินค้า ความเคลื่อนไหวขององค์กร ตลอดจนกิจกรรมทางการตลาดให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้าง เพราะปัจจุบันบริษัท มีไลน์สินค้า 10 หมวด อาทิ รองเท้านักเรียน , รองเท้าแฟชั่น , รองเท้าฟุตบอล , รองเท้าฟุตซอล , รองเท้าวิ่ง , รองเท้าเพื่อสุขภาพ , รองเท้าแตะ , รองเท้าคัชชู และแอคเซสเซอรี่ต่างๆ อาทิ ถุงเท้า เสื้อ เป็นต้น
“นับจากนี้ไปบริษัทจะมุ่งรุกทำตลาดรองเท้าไลฟ์สไตล์มากขึ้น ซึ่งเป็นเซ็กเม้นท์ที่มีการขยายตัวและเติบโตต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับตลาดรองเท้าในเซ็กเม้นท์อื่นๆ ดังนั้นจึงต้องมุ่งสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ผ่าน 2 กลยุทธ์หลักได้แก่ “Sport Marketing” การนำแบรนด์โกลด์ซิตี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการแข่งขันกีฬาต่างๆ โดยจะเริ่มเป็นผู้สนับสนุนสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดศรีษะเกษ ในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 47 หรือ “ศรีษะเกษเกมส์” ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 5-15 ธันวาคม 2563 และ “Entertainment Marketing” ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนมหกรรมดนตรี Thailand Band Knockout 2020 การประกวดดนตรีระดับมัธยมศึกษา และคอนเสิร์ตต่างๆ อาทิเช่น ริมผา, Paradisefest, สายนุ่ม, สหายออฟฟิศFest เวทีที่เปิดกว้างให้เด็กได้แสดงความสามารถทางดนตรี , การสนับสนุนการแข่งขันเกมส์อี-สปอร์ต เป็นต้น”
อย่างไรก็ดีในโอกาสครบรอบ 70 ปี บริษัทเตรียมจัดกิจกรรมฉลองความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ และถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะหวนกลับมาทำตลาดเป็นรูปแบบอีกครั้ง โดยในปีนี้บริษัทเตรียมใช้งบการตลาดกว่า 60 ล้านบาท ซึ่งนอกจากการเป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมต่างๆแล้ว ยังเน้นการสร้างแบรนด์ผ่านโซเชียล มีเดีย เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง รวมทั้งการขยายช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลายและครอบคลุมทั้งตัวแทนจำหน่ายซึ่งมีอยู่กว่า 300 ร้านทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเน้นร้านค้าสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรดด้วย
สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้ 550 ล้านบาทในกลุ่มรองเท้าผ้าใบ Brand GOLDCITY เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 500 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากรองเท้านักเรียนร้อยละ 65 รองเท้าแฟชั่นร้อยละ 30 และอื่นๆ ร้อยละ 5