มิติหุ้น-“ทรีนีตี้” ให้น้ำหนักลงทุนหุ้นกลุ่ม ICT เท่าตลาด หลังกสทช.สรุปผลประมูล 5 G คาดหุ้น TRUE-ADVANC ตอบรับเชิงบวก ส่วน DTAC ตอบรับเชิงลบเหตุไม่ได้ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ประเมินพร้อมเปิดให้บริการ 5 G ปลายปีนี้
นายนฤดม มุจจลินทร์กูล ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนหุ้นกลุ่ม ICTภายหลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่ ในย่าน 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ว่า ทรีนีตี้ ยังคงน้ำหนักการลงทุนของกลุ่ม ICT “เท่ากับตลาด” ต่อไป ภายหลังจากการประมูลคลื่นความถี่ 3 ย่านเสร็จสิ้นลง โดยยังคงเลือก ADVANC เป็น Top pick เช่นเดิมที่ราคาเป้าหมาย 250 บาท ในระยะสั้น
ทั้งนี้ ทรีนีตี้ ได้ประเมินผลของการประมูลต่อราคาหุ้นของโอเปอร์เรเตอร์ 3 ราย ดังนี้ TRUE ตอบรับในเชิงบวก เนื่องจากชนะประมูลใบอนุญาตที่ไม่เกิดการแข่งขัน ราคาไม่สูงมาก และได้คลื่นไปมากเพียงพอต่อการให้บริการ ขณะที่ ADVANC ตอบรับเชิงบวกเล็กน้อย เนื่องจากจำนวนคลื่นที่บริษัทได้มามากที่สุดในตลาด น่าจะสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาวต่อตลาดและลูกค้าได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยเงินลงทุนค่าใบอนุญาตที่ค่อนข้างสูง
สำหรับ DTAC ราคาหุ้นจะตอบรับในเชิงลบ เนื่องจากไม่มีการแข่งขันบนคลื่น 2600 MHz ทำให้คู่แข่งได้คลื่นกันไปครบถ้วนในราคาที่ไม่สูงมาก ลูกค้าอาจสูญเสียความเชื่อมั่นในการให้บริการของบริษัท ส่งผลให้อาจมีการย้ายค่ายหนีไปใช้บริการของคู่แข่งที่มีความพร้อมของ 5G มากกว่าและเร็วกว่า
การจัดการประมูลคลื่นความถี่ในย่าน 700 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประมูล 5 ราย ได้แก่ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN โดยการประมูลคลื่นความถี่มีจำนวน 49 ใบอนุญาต แบ่งเป็นคลื่น 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต มีผู้ประมูลหมดทั้ง 3 ใบอนุญาต ได้แก่ CAT ได้ 2 ชุดคลื่นความถี่และ AWN ได้ 1 ชุดคลื่นความถี่ คลื่น 2600 MHz จำนวน19 ใบอนุญาต มีผู้ประมูล ทั้ง 19 ใบอนุญาตได้แก่ AWN ได้ 10 ชุดคลื่นความถี่ และ TUC ได้ 9 ชุดคลื่นความถี่ คลื่นความถี่ย่าน 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต มีการประมูล 26 ใบอนุญาต ได้แก่ AWN ได้ 12 ชุดคลื่นความถี่ TUC ได้ 8 ชุดคลื่นความถี่ ทีโอที ได้ 4 ชุดคลื่นความถี่ และ DTN ได้ 2 ชุดคลื่นความถี่
นายนฤดม กล่าวในท้ายที่สุดว่า ในลำดับถัดไปต้องติดตามการจัดประมูลคลื่น 3500MHz ในอนาคต รวมไปถึงการจัดสรรคลื่น 700MHz ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ (เบื้องต้นคาดว่าจะพร้อมในช่วงเดือน เม.ย ปี 64) ในขณะที่คลื่นย่านอื่นคาดจัดสรรได้ทันที โดยเราคาดว่า 5G จะเริ่มมีให้ใช้บริการช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า