ออมสิน เผย “โคโรนาไวรัส 2019 (Covid-19)” ทำนักท่องเที่ยวจีนหาย รายได้ลด

671

ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน

เผย “โคโรนาไวรัส 2019 (Covid-19) ทำนักท่องเที่ยวจีนหาย รายได้ลด
ฉุด GDP ไทยลง -0.4% ถึง -1.0% ภาครัฐเร่งช่วยเหลือ ออมสินพร้อมสนับสนุน”

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า จากมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส (Covid-19) ขั้นเด็ดขาดของทางการจีนที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสั่งปิดเมืองอู่ฮั่นและในอีกหลายเมืองที่มีความเสี่ยงหรือการสั่งระงับทัวร์จีนเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ ฯลฯ ทำให้ส่งผลกระทบทางตรงต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย อีกทั้งยังส่งผลกระทบไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจค้าปลีก ที่พักแรม ร้านอาหาร บริการขนส่ง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงไปถึงธุรกิจต้นน้ำ อาทิ ธุรกิจเกษตร ปศุสัตว์ ที่เป็นวัตถุดิบหรือสินค้าให้กับร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และโรงแรม ที่พักต่างๆ ซี่งภาครัฐได้ออกมาตรการเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจและเยียวยาภาคธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ทั้งมาตรการทางด้านการเงินและด้านการคลังเป็นการเร่งด่วน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ได้ประเมินผลกระทบดังกล่าวที่มีต่อภาคเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของไทยโดยใช้ข้อมูลสถิติจำนวนรายได้และค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาประเทศไทย จากฐานข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำหรับประมวลผลและคาดการณ์การลดลงของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่อนำไปพยากรณ์ผลกระทบที่จะมีต่อ GDP ของประเทศในด้านการผลิตหากรายได้จากการท่องเที่ยวมีการปรับตัวลดลง โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 กรณี คือ

1) กรณีที่ทางการจีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 (Covid-19) ได้ภายใน 3 เดือน คาดว่านักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางมายังประเทศไทยจะหายไปประมาณ 1.6 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยลดลงไปกว่า 80,000 ล้านบาท และฉุดให้ GDP ของไทยในปี 2563 ลดลงร้อยละ -0.4

2) กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสต่อเนื่องยาวไปจนถึง 6 เดือน คาดว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวจีน   ที่หายไปเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3.5 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยลดลงไปกว่า 170,000 ล้านบาท และฉุดให้ GDP ของไทยในปี 2563 ลดลงร้อยละ -1.0

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน ได้ศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบจากการหดตัวของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มี ต่อธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว โดยจากข้อมูลสถิติการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวจีนจากฐานข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พบว่านักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมใช้จ่าย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) การช้อปปิ้ง(ค้าปลีก) 2) ที่พักแรม 3) ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 4) การเดินทาง และ 5) การบันเทิง/สันทนาการต่างๆ

ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้จ่ายดังกล่าว โดยเฉพาะในจังหวัดที่คนจีนนิยมท่องเที่ยว อาทิ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ กระบี่ สุราษฎร์ธานี และเชียงราย ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการที่รายได้นักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงมากที่สุด 4 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจที่พักแรม ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจขนส่ง

ธุรกิจค้าปลีก คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 25,000 – 54,000 ล้านบาท จากการจับจ่ายซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหลัก อาทิ 1) กลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ เช่น มินิมาร์ท/ไฮเปอร์มาร์เก็ต/ซุปเปอร์มาร์เก็ต 2) ธุรกิจขายเครื่องสำอาง/ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 3) กลุ่มร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม/ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อในท้องถิ่น/ของที่ระลึก ซึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีนมีผู้ประกอบการ      ในกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 7,538 ราย1/ โดยจังหวัดที่มีผู้ประกอบการกลุ่มนี้อยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต

ธุรกิจที่พักแรม/โรงแรม คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 21,000 – 45,000 ล้านบาท โดยเฉพาะที่พักแรมระดับราคาไม่สูงมากจนถึงระดับปานกลาง และมีตลาดหลักเป็นลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีนมีผู้ประกอบการในกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 5,622 ราย1/ โดยจังหวัดที่มีผู้ประกอบการกลุ่มนี้อยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ กรุงเทพฯ สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต

ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 16,000 – 34,000 ล้านบาท โดยเฉพาะร้านอาหารและเครื่องดื่มที่ขึ้นชื่อของแต่ละจังหวัด ซึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีนมีผู้ประกอบการในกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 7,708 ราย1/ โดยจังหวัดที่มีผู้ประกอบการกลุ่มนี้อยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบยังรวมถึงร้าน Street Food อีกกว่า 105,000 ราย(ส่วนใหญ่ไม่เป็นนิติบุคคล) กระจายตามจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ

ธุรกิจขนส่ง คาดว่าจะสูญเสียรายได้ประมาณ 7,500 – 16,000 ล้านบาท โดยเฉพาะบริการรถหรือเรือนำเที่ยว รวมถึงบริการการขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ในพื้นที่ ซึ่งในจังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีนมีผู้ประกอบการที่เป็น SMEs กลุ่มนี้อยู่ประมาณ 6,742 ราย1/ โดยจังหวัดที่มีผู้ประกอบการกลุ่มนี้อยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี และภูเก็ต

อย่างไรก็ตามนอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการที่นักท่องเที่ยวชาวจีนลดลงแล้ว ยังมีผลกระทบเชื่อมโยงไปถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นธุรกิจต้นน้ำ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเพาะปลูก ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ข้าว รวมถึงธุรกิจปศุสัตว์ทั้งโค สุกร และสัตว์ปีก อีกทั้งธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น ธุรกิจเชื้อเพลิง ธุรกิจเคมีภัณฑ์ เป็นต้นซึ่งอาจมีผลกระทบให้ GDP ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์

ทั้งนี้ ภาครัฐได้เร่งออกมาตรการเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)  ทั้งมาตรการทางด้านการเงินและด้านการคลัง โดยมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือต่างๆ อาทิ

  • การจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ โดยให้สถาบันการเงินของภาครัฐ เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.), ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
  • สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศและสนับสนุนการปรับปรุงกิจการโรงแรม
  • การลดค่าธรรมเนียมในการขึ้น-ลงของอากาศยาน (Landing Fee)
  • การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน

สำหรับ ธนาคารออมสิน ได้ออกมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระเงินกู้สำหรับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Covid-19) โดยจะต้องอยู่ในกลุ่มธุรกิจ   ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมถึงผู้ผลิตสินค้า และผู้ประกอบการขายส่ง ขายปลีกสินค้าให้นักท่องเที่ยว เป็นต้น เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

  • ลดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเงินกู้ลง 20% ของดอกเบี้ยจ่าย เป็นระยะเวลา 1 ปี (คงเหลืออัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 4%)
  • พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี โดยระหว่างพักชำระเงินต้นให้ชำระดอกเบี้ย 50% – 100%   ตามความรุนแรงของผลกระทบ ทั้งนี้ ในส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระหรือที่ชำระไม่ครบ ผ่อนปรนให้ชำระได้ภายหลังในระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี
  • ขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 2 เท่าของระยะเวลาพักชำระเงินต้น สูงสุดไม่เกิน 4 ปี
  • ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม
  • ลดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเงินกู้ลง 10% ของดอกเบี้ยจ่ายเป็นระยะเวลา 1 ปี (คงเหลืออัตราดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 4%)
  • พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี โดยระหว่างพักชำระเงินต้นให้ชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 100%
  • ขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกินระยะเวลาพักชำระเงินต้นนอกจากนี้ ยังจะมีแนวทางช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอีกหลายมาตรการ ทั้งมาตรการเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และมาตรการช่วยเหลือพนักงาน/ลูกจ้างที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ผู้ค้ารายย่อยและอาชีพที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ รายละเอียดอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลังเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งธนาคารออมสินยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือต่อไป” ดร.ชาติชายกล่าว