EPG เผยโค้งสุดท้ายปี 62/63 อัพกำไรขั้นต้นเข้าเป้า

96

 

รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลกเปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมาสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติรายงานตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศเติบโตได้ 2.4%

เนื่องจากการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา และการแข็งค่าของเงินบาท อีกทั้งช่วงเดือนต.ค. 62 – ธ.ค.62 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยรายงานยอดจำหน่ายรถกระบะ 1 ตันภายในประเทศ ปรับตัวลดลง 19% และยอดส่งออกยานยนต์ลดลง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจเลือกซื้อรถใหม่ อาจด้วยความไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงรอการเปลี่ยนโมเดลรถรุ่นใหม่ หรือรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาทดแทนในอนาคต สำหรับปี 2563 สภาพัฒน์​ฯ คาดการณ์เศรษฐกิจในประเทศเติบโตได้ 1.5% – 2.5% จากผลกระทบโรคระบาดไวรัส COVID-19 และความล่าช้าของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 เป็นต้น จากปัจจัยดังกล่าว จึงเห็นได้ว่าตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงปัจจุบันภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลกมีความผันผวน

สำหรับแนวโน้มธุรกิจของ EPG ในงวดปีบัญชี 62/63 (เม.ย.62 – มี.ค.63) คาดว่าจะมีรายได้จากการขายเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนรายได้ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 62/63 แบ่งเป็น Aeroflex 31% Aeroklas 43% และ EPP 26% ซึ่งกลุ่มธุรกิจ Aeroflex และEPP ยังคงมีรายได้จากการขายเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วน Aeroklas ยังไม่สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตามบริษัทจะรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นให้ได้ตามเป้าหมายที่ 28%-30%

สำหรับการดำเนินงานช่วงที่เหลือของปีบัญชี 62/63 (ม.ค.63 – มี.ค.63) ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex มุ่งทำการตลาดในกลุ่มสินค้าพรีเมี่ยมทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน ขณะที่โรงงานแอร์โรเฟลกซ์ 5 ซึ่งเป็นโรงงานแห่งใหม่ใน จ.ระยอง เริ่มทดสอบการผลิตแล้ว คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมีนาคม 2563 เพื่อรองรับการเติบโตฉนวนกันความร้อน/เย็น และฉนวนกันความร้อนใต้หลังคา

ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas ไตรมาส 3 ปี 2562/63 ที่ผ่านมา ค่ายรถยนต์ชะลอการสั่งซื้อชิ้นส่วนยานยนต์ โดยใช้สต็อกเดิมที่มีอยู่ ส่งผลกระทบกับแอร์โรคลาส ทำให้มีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำ แม้จะได้รับประโยชน์จากราคาต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง อย่างไรก็ตามบริษัทได้ดำเนินการปรับปรุงควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว โดยคาดว่าการบริหารต้นทุนของแอร์โรคลาสจะปรับตัวได้ดีขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับธุรกิจ TJM Products Pty.Ltd (TJM) มีแผนขยายตลาดในต่างประเทศโดยเฉพาะทวีปเอเชีย เพื่อขยายฐานลูกค้ารายใหม่ เสริมพอร์ตเพิ่มความแข็งแกร่ง โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ได้บุกตลาดประเทศไทย เปิดโชว์รูมแห่งแรก ณ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา แล้ว และในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ เตรียมจะเปิดแฟรนไชส์อีก 1 แห่ง ณ จ.ขอนแก่น และมีแผนขยายแฟรนไชส์อีกหลายแห่งในประเทศไทย นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่ม CLMV มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แสดงความสนใจในการร่วมทำธุรกิจกับ TJM อีกด้วย

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP เร่งทำตลาดในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหาร ประเภทกล่องใส่อาหารและถ้วยน้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยอดขายสำหรับกลุ่มสินค้าประเภทกล่องใส่อาหารเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากไลฟ์สไตส์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เน้นการสั่งอาหารเดลิเวอร์รี่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง EPP สามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมได้มากขึ้น ด้วยมีการรับรองมาตรฐานความสะอาดและปลอดภัยทางด้านอาหาร จากองค์กรชั้นนำหลายแห่ง เช่น HACCP/ GMP และ BRC เป็นต้น

สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือน ปี 62/63 (เม.ย.62 – ธ.ค.62) บริษัทมีรายได้จากการขาย 7,862.5 ล้านบาท ลดลง 2.3% มีกำไรสุทธิ 754.7 ล้านบาท ลดลง 4.7% จากงวด 9 เดือนของปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 3 ปี 62/63 (ต.ค.62- ธ.ค.62) มีรายได้จากการขาย 2,427.7 ล้านบาท ลดลง 11.4% และมีกำไรสุทธิ 213.4 ล้านบาท ลดลง 5.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รศ.ดร.เฉลียว กล่าว

www.mitihoon.com