ย้อนรอยปมร้อน..ศูนย์ประชุมสิริกิติ์!

1530

ยังคงเป็นประเด็นสุดฮอต เป็น Talk of the Town..

กับประเด็นเผือกร้อนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2560 ที่มุบมิบๆ ไฟเขียวการแก้ไขสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ให้แก่บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ ในเครือเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 50 ปี (และต่อสัญญาได้อีก 49 ปีรวม 99 ปี)

เป็นการอนุมัติไปอย่างเงียบเชียบชนิดที่แม้แต่สื่อในทำเนียบและกระทรวงการคลังเองก็ไม่ล่วงรู้มาก่อน แถมยังไม่มีการแถลงข่าวเรื่องนี้แต่อย่างใด?

จนกระทั่งพลพรรคฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นเผือกร้อนที่จะอภิปรายซักฟอกพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกฯ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้านี้ หลายฝ่ายจึงพล่านควานหาข้อมูลกันให้ควั่ก!

ย้อนรอยปูมหลังสัญญาเช่าอัปยศ!

รายละเอียดของการแก้ไขสัญญาดังกล่าว ได้ปรับอายุสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ให้แก่บริษัท เอ็นซี.ซี.ฯ จากเดิม 25 ปีสิ้นสุดในปี 2560 เป็น 50 ปี เป็นสิ้นสุดปี 2585 และปรับเปลี่ยนสัญญาจากเดิมที่บริษัทต้องก่อสร้างโรงแรม 4-5 ดาว ขนาด 450 ห้อง พร้อมเพิ่มพื้นที่จอดรถ 3,000 คัน และพื้นที่เพื่อการพาณิชย์ 28,000 ตารางเมตร รวมมูลค่า 2,732 ล้านบาท มาเป็นการปรับปรุงและขยายอาคารศูนย์ประชุมเดิมให้มีพื้นที่มากขึ้น เพิ่มพื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ และที่จอดรถรวมไม่น้อยกว่า 1.8 แสนตารางเมตร มูลค่าลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท ด้วยข้ออ้างติดข้อบัญญัติ กทม. ที่ห้ามสร้างตึกสูงเกิน 23 เมตร (8 ชั้น) ที่ออกบังคับใช้เมื่อปี 2547

โดยกรมธนารักษ์ ระบุว่า ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อวิเคราะห์ผลประโยชน์และผลตอบแทนที่จะได้รับในระยะ 50 ปี คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันที่ 5,083 ล้านบาท ส่วนมูลค่าอนาคตอยู่ที่ 18,998 ล้านบาท

“ที่ไม่เปิดประมูลใหม่ เพราะการลงทุนครั้งนี้ถือเป็นโครงการเดิม สัญญาเดิม ลงทุนในพื้นที่เดิม และใช้รากฐานทางวิศวกรรมเดิม ซึ่งกรมธนารักษ์ได้หารือกับสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว และหารือกับสำนักงานโยธาแล้ว โดยได้มีการเสนอโครงการดังกล่าวเข้าคณะกรรมการร่วมลงทุน (พีพีพี) แล้ว เนื่องจากมีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านบาท  แต่หลังผ่าน ครม.ไม่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ จากทีมโฆษก หรือกระทรวงการคลัง จึงทำให้มองว่าอนุมัติไปอย่างเงียบๆ“

ขณะที่ อดีต รมต.คลัง นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล และสมาคมส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ (ไทย) หรือ ทิก้า ระบุว่า การต่อสัญญาบริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ให้กับ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ โดยไม่เปิดประมูลให้เอกชนรายอื่นเข้าร่วมนั้น  ถือเป็นการตัดโอกาสการแข่งขัน ที่ภาครัฐจะได้รับผลตอบแทนสูงสุดไป และมองว่าผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับตลอดสัมปทานที่คิดตาม NPV  5,100 ล้านบาท แลกกับการขยายสัญญา 50 ปี หรือเฉลี่ยปีละแค่  100 ล้านบาท หรือเดือนละไม่ถึง 10 ล้านบาทนั้น  ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับทำเลที่ตั้งของศูนย์การประชุมฯ

ส่วนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โฮชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงต่อกรณีดังกล่าวเมื่อครั้งถูกสื่อซักถามมติ ครม.ที่มุบมิบ ๆ ต่อสัญญาเช่าออกไปในครั้งนั้นว่า การต่อสัญญาบริหาร และดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นั้น ขออย่ามองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ แต่ควรมองสิ่งที่ประเทศจะได้รับ ซึ่งกระทรวงการคลังได้พิจารณาจากบริษัทที่ให้ผลประโยชน์และข้อเสนอที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อราชการแล้ว

ทั้งนี้ การปรับเพิ่มระยะเวลาในการเช่าศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะส่งผลทำให้ราชการมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงจะมีการปรับปรุงอาคารซึ่งการดำเนินการทั้งหมด ล้วนแต่จะสร้างประโยชน์ต่อราชการทั้งสิ้น

คลังกับการแหกด่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

สิ่งที่สังคมคาใจต่อประเด็นที่รัฐบาลและคลังระบุว่า รัฐได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการขยายสัญญาไป 50 ปีนั้น คลังและรัฐบาลวัดจากอะไร จากการได้พื้นที่ในเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงขยายอาคารบนพื้นที่เดิม แลกกับการที่บริษัทไม่ต้องก่อสร้างโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ด้วยข้ออ้างข้อติดข้อจำกัดด้าน กม.ผังเมือง ที่ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 23 เมตร (8 ชั้น)

ทั้งที่ในข้อเท็จจริงนั้น ก่อนหน้านั้นสำนักผังเมืองและ กทม. ก็มีการปรับปรุงกฎหมายผังเมือง และปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับการก่อสร้างตึกสูงในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล อนุมัติให้มีการยกเว้นการก่อสร้างอาคารสูง ในกรณีการพัฒนาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของรัฐ

อย่างที่ดินมุมถนนพระราม 4 ที่ตั้งโรงเรียนเตรียมทหารเดิม ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เนื้อที่ 104 ไร่ ซึ่งกลุ่มทุนทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) ของเจ้าสัวเจริญเอง ก็ได้อานิสงส์ในการผุดตึกสูง Mixed Use ครบวงจร โครงการ One Bangkok มูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท แม้แต่ที่ตั้งของสำนักงานตลาดหลักทรัพย์ฯ และอาคารชุดของสำนักงานที่ตั้งอยู่ติดกัน ก็ล้วนเป็นอาคารที่สูงกว่า 20-30 ชั้นทั้งสิ้น

และก่อนหน้าในช่วงการพิจารณาจะต่อสัญญา-ไม่ต่อสัญญาศูนย์ประชุมสิริกิติ์ฯ แห่งนี้ สำนักผังเมือง กทม. ก็มีการพิจารณาปรับปรุงผังเมือง กทม.ปี 2556 ที่นัยว่า มีการปรับเปลี่ยนประเภทการใช้ที่ดิน ประเภท ย.4 ที่กำหนดให้ใช้เพื่อที่อยู่อาศัยในย่านถนนเกษตร-นวมินทร์ (บริเวณโครงการนวมินทร์ซิตี้ อเวนิว ) ที่รายล้อมไปด้วยบ้านเดี่ยวที่มีความหนาแน่นน้อยตามแบบที่อยู่อาศัยย่านชานเมือง ปรับเปลี่ยนมาเป็นที่ดินประเภท พ.3 หรือที่ดินประเภทพาณิชยกรรม แต่ห้ามใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อกิจการตามที่กำหนด เพื่อเอื้อให้แก่โครงการพัฒนาที่ดิน เนื้อที่กว่า 100 ไร่ บริเวณด้านข้างและตรงข้ามโครงการนวมินทร์ซิตี้ อเวนิว ที่มีโครงการจะพัฒนาเป็นอาคารศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม 200 ห้อง และที่จอดรถกว่า 2,000 คัน  รวมเนื้อที่ทั้งหมดกว่า 200.000 ตารางเมตร ใช้งบลงทุนกว่า 7,000-8,000 ล้านบาท  แต่หลังจากได้รับการต่อสัญญาศูนย์ประชุมแห่งชาติไปแล้ว โครงการดังกล่าวก็ถูกชะลอออกไป

แล้วเหตุใด กระทรวงการคลัง กลับหยิบยกเอาประเด็นข้อห้ามก่อสร้างตึกสูงเกิน 23 เมตรนี้ตาม กม.ผังเมือง กทม.ดังกล่าว มาเป็นข้อจำกัดในการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชนรายนี้ ที่ไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานบริหารศูนย์ประชุมฯ ที่จะต้องก่อสร้างตัวโรงแรม 4-5 ดาว โดยไม่มีบทปรับ หรือการบังคับให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน ทั้งที่หากเป็นกรณีอื่น ๆ นั้น กระทรวงการคลังและรัฐบาลสามารถจะดำเนินการยกเลิกสัญญาสัมปทานได้ทันที

ปริศนา..รัฐได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้น?

คำถามก็คือ กระทรวงการคลังเอาเกณฑ์ไหนมาพิจารณาว่าภาครัฐได้ประโยชน์จากการยินยอมแก้ไขสัญญา ยอมให้บริษัทแก้ไขสัญญายุติการก่อสร้างโรงแรมระดับ 4-5 ดาวขนาด 450 ห้องที่ว่า แลกกับการปรับปรุงขยายพื้นที่เดิม ใครเป็นผู้ชี้ขาดว่ารัฐได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น คณะกรรมการกฤษฎีกา หรือกระทรวงการคลัง

เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่กรมธนารักษ์ และคลัง คงต้องชี้แจงสังคมก็คือการดำเนินการทั้งมวลข้างต้นนั้น ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ปี2556 หรือ พ.ร.บ.พีพีพี ปี 2556 อย่างเข้มงวดหรือไม่ เพราะโครงการดังกล่าวที่แต่เดิมมีมูลค่าลงทุน 3,000 ล้านบาท และที่จะต้องดำเนินการลงทุนเพิ่มเติมในเฟส 3 อีกร่วม 3,000  ล้านบาทนั้น มันเป็นโครงการที่เข้าข่ายจะต้องดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ทุกกระเบียดนิ้ว

และหากกระทรวงการคลังเลือกที่จะขยายสัญญาสัมปทานเดิมออกไป โดยจะไม่เปิดประมูลเป็นการทั่วไป ก็ต้องดำเนินการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ขึ้นดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ และนำเสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43 และยังต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการพีพีพีตามมาตรา 8 อีกด้วย

จะอ้างว่ากรมได้เคยหารือเรื่องไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการได้เคยมีคำวินิจฉัยว่าการปรับเปลี่ยนสัญญาจากที่ต้องก่อสร้างโรงแรม 4-5 ดาว มาเป็นการปรับปรุงและขยายอาคารเดิมเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในเชิงพาณิชย์และที่จอดรถเพิ่มนั้น ไม่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพราะไม่ได้เป็นการให้เอกชนรายใหม่เข้ามาดำเนินการ นั้นไม่น่าจะใช้ได้อีก เพราะการหารือเดิมนั้นเป็นการขอแก้ไขที่บริษัทร้องขอเข้ามาตั้งแต่ปีมะโว้

แต่กรณีล่าสุดนั้น เป็นเรื่องขอขยายสัญญาจากเดิมที่กำลังจะสิ้นสุดลง และทรัพย์สินทั้งหมดในโครงการจะต้องตกเป็นของรัฐอยู่แล้วซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมธนารักษ์และคลังจะต้องดำเนินการจัดหาเอกชนรายใหม่เข้ามาดำเนินการ หรือหากจะให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการรายเดิม ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายฉบับใหม่ทุกกระเบียดนิ้ว

แต่หากสิ่งที่คลังดำเนินการไปสุดลิ่มทิ่มประตูไม่ผ่านขั้นตอนการดำเนินการตามกม.ที่คลังเป็นผู้กำกับดูแลเองกับมือ ย่อมต้องถือว่า ดำเนินการขัดมาตรา 60 และ 72 ผู้เกี่ยวข้องมีสิทธิ์โดนโทษทั้งแพ่งและอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกถึง 3 ปีปรับไม่เกิน 6 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังอาจถูก ปปช.สอบกราวรูดตามมาอีก

ปูเสื่อรอ..ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อกรณีเผือกร้อนศูนย์สิริกิติ์ดังกล่าว ว่าหลังจากนี้ สตง.-ป.ป.ช. จะกล้า “หักดิบ” ปัดฝุ่นเรื่องดังกล่าวขึ้นมาตรวจสอบหรือไม่?

ไทม์ไลน์ปมร้อน: สัญญาเช่าศูนย์ประชุมสิริกิติ์

-27 ตุลาคม 2532 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้กระทรวงการคลัง ออกแบบและก่อสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี 2534 โดยมี บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้บริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมฯ

-สัญญาบริหารศูนย์ประชุม แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่  1 วันที่ 2 ส.ค. 2534 – 30 พ.ย. 2534 ในช่วงการประชุมสภาผู้ว่าการธนาคารโลกฯ  ระยะที่ 2 ระยะเวลา 5 ปี (1 ธ.ค. 2534 – 30 พ.ย. 2539) โดยมีเงื่อนไขให้บริษัท เอ็น.ซี.ซีฯ ต้องเสนอแผนการลงทุนและผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อจะได้รับสิทธิการบริหารศูนย์การประชุมฯ ในระยะที่ 3 มีกำหนดเวลา 25 ปี และ ระยะที่ 3 มีระยะเวลา 29 ปี  (รวมระยะเวลาออกแบบ 1 ปี ก่อสร้าง 4 ปี)

-11 เมษายน 2538  ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนออนุมัติให้ต่ออายุสัญญาระยะที่ 3  โดยมีเงื่อนไขบริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ต้องก่อสร้างโรงแรมมาตรฐานระดับ 4-5 ดาว จำนวนห้องพักไม่ต่ำกว่า 400 ห้อง สถานที่จอดรถยนต์ไม่น้อยกว่า 3,000 คัน และพื้นที่ซึ่งใช้เพื่อการพาณิชย์ไม่น้อยกว่า 28,000 ตารางเมตร มูลค่าไม่ต่ำกว่า 2,732 ล้านบาท และผลประโยชน์ตอบแทน 25 ปี คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) 3,130 ล้านบาท มูลค่าในอนาคต (FV) 11,400 ล้านบาท

เงื่อนปมปัญหา

อย่างไรก็ตาม บริษัทเอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างตามเงื่อนไขของสัญญาข้างต้นได้  เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านกฎหมายที่กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณศูนย์การประชุมฯ เป็นสีน้ำเงิน ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ และกำหนดให้บริเวณศูนย์การประชุมฯ เป็นพื้นที่ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 23 เมตร

บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ จึงเสนอขอยกเลิกการก่อสร้างและขอแก้ไขสัญญาโดยปรับปรุงดัดแปลงอาคารศูนย์การประชุมฯ เดิมให้มีพื้นที่ศูนย์การประชุม พื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ และที่จอดรถยนต์โดยมีพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 180,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ระยะเวลาการเช่า 50 ปี

-8 กันยายน 2543 คณะกรรมการประสานงานบริหารศูนย์การประชุมฯ มีมติให้กรมธนารักษ์เสนอ รมว.คลัง เพื่อพิจารณานำเสนอ ครม. 2 แนวทาง คือ การบอกเลิกสัญญาพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย หรือแก้ไขสัญญาตามที่บริษัทเสนอ

– อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังเห็นว่าการบอกเลิกสัญญาพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหาย หรือการแก้ไขสัญญาโดยการเลิกการก่อสร้างโรงแรมและเสนอโครงการใหม่จะต้องมีข้อเท็จจริงเพียงพอต่อการวินิจฉัย จึงได้หารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว กระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ บริหารอาคารศูนย์ประชุมฯ ไปก่อนจนกว่าการก่อสร้างอาคารในส่วนขยายจะแล้วเสร็จ

– ผลการหารือสำนักงานคณะกรรมกากฤษฎีกาเบื้องต้น ได้ให้ความเห็นว่า การที่บริษัทเอ็น.ซี.ซี.ฯ ขอแก้ไขสัญญาเดิม กระทรวงการคลังต้องเป็นผู้พิจารณาว่า มีการกระทำใดที่เป็นการผิดสัญญา และสมควรบอกเลิกสัญญาด้วยหรือไม่หากปรากฏว่ามีการกระทำดังกล่าว กระทรวงการคลังอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเสนอแก้ไขสัญญาทางราชการจะได้รับประโยชน์และได้ผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่า หรือดีกว่าข้อกำหนดในสัญญาเดิม ก็อาจพิจารณาให้มีการแก้ไขสัญญาได้ต่อไป และการแก้ไขสัญญาดังกล่าว ไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2535 เพราะมิใช่การให้เอกชนรายใหม่ร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ

-20 ส.ค.2551 คณะกรรมการประสานงานบริหารศูนย์การประชุมฯ ได้พิจารณาแนวทางตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีมติว่าการที่บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ เนื่องจากติดขัดปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเป็นการพ้นวิสัยที่จะปฏิบัติตามสัญญาได้ จึงถือว่า บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา อันเป็นเหตุให้กรมธนารักษ์สามารถบอกเลิกสัญญากับบริษัทได้ จึงเสนอกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบแนวทางให้แก้ไขสัญญา

– บริษัท เอ็น.ซี.ซีฯ ได้เสนอขอแก้ไขสัญญาโดยขอปรับปรุงดัดแปลงอาคารเดิมให้มีพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 180,000 ตารางเมตร มูลค่าการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท และระยะเวลาการเช่า 50 ปี

-กรมธนารักษ์ ได้จ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อวิเคราะห์ผลประโยชน์ตอบแทนที่รัฐควรได้รับ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับสำหรับการประเมินมูลค่าผลตอบแทน 50 ปี คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) เท่ากับ 5,083 ล้านบาท ไม่น้อยกว่าสัญญาเดิม

5 พฤศจิกายน 2556 และ 30 มกราคม 2557 คณะกรรมการประสานงานบริหารศูนย์การประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ แก้ไขสัญญาโดยปรับปรุงดัดแปลงอาคารศูนย์ประชุมฯ เดิมให้มีพื้นที่ศูนย์ประชุม พื้นที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ และที่จอดรถยนต์ โดยมีพื้นที่รวมไม่น้อยกว่า 180,000 ตารางเมตร มูลค่าก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ระยะเวลาการเช่าซึ่งรวมถึงเวลาเตรียมการ รื้อถอน และก่อสร้าง 8 ปี รวมเป็น 58 ปี ผลประโยชน์ตอบแทนคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (PV) 5,100.55 ล้านบาท มูลค่าในอนาคต (FV) 18,998.60 ล้านบาท โดยระยะเวลาการเช่า 50 ปี

– 28 มี.ค.2557 คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ เช่าที่ราชพัสดุเพื่อบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมฯ โดยมีระยะเวลาการเช่า 50 ปี ตามที่กรมธนารักษ์เสนอ

7 ม.ค.2559 คณะกรรมการกำกับดูแลบริหารศูนย์การประชุมฯ ได้มีมติให้บริษัท เอ็น.ซี.ซี.ฯ ได้รับสิทธิในการบริหารศูนย์การประชุมฯ ในสัญญาระยะที่ 3 เป็นเวลา 50 ปี โดยรวมระยะเวลาเตรียมการรื้อถอน และก่อสร้าง 3 ปี ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบระยะเวลาการเช่าตามพ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542

17 มกราคม 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ในหลักการขยายและปรับปรุงสัญญาบริหารศูนย์ประชุมฯ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

21 ธันวาคม 2561 กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้ลงนามในสัญญาเช่าบริหารศูนย์ประชุมสิริกิติ์กับบริษัทเอ็น.ซี.ซี.แมนเนจเมนท์แอนด์ดิเวลลอปเมนท์ จำกัด  ระยะเวลา 50 ปี (รวมระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี)

โดยเนตรทิพย์กระพริบข่าวร้อน

http://www.natethip.com/news.php?id=1816

www.mitihoon.com