BJC เผยรายได้ปี 62 อยู่ที่ 1.7 แสนลบ. เพิ่มขึ้น 1.1% แจงยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค ดันกำไรไตรมาส 4/62 โต 16.3%

210

มิติหุ้น – เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แจงรายได้รวมปี 2562 เติบโต 1.1% เผยรายได้รวมไตรมาส 4 ปี 2562 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.9% แต่กำไรสุทธิช่วงไตรมาส 4 เติบโต 16.3% จากยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการอุปโภคบริโภค ความสามารถทำกำไรที่เพิ่มขึ้น และอัตราภาษีเงินได้ที่ลดลง

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี รายงานผลประกอบการไตรมาส 4 ปี2562 และงงบประจำปี 2562 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่ารายได้รวมงบประจำปี 2562 อยู่ที่ 174,037 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,814 ล้านบาท หรือ 1.1% เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้รวมงบประจำปี 2561 โดยรายได้รวมเพิ่มขึ้นจากการเติบโตทั้งในกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค, กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค, และกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่

อย่างไรก็ดี รายได้รวมในไตรมาส 4 ปี 2562 อยู่ที่ 44,539 ล้านบาท ลดลง 876 ล้านบาท หรือ 1.9% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้รวมลดลงจากยอดขายและรายได้ค่าบริการรวมลดลง 662 ล้านบาท อยู่ที่ 40,564 ล้านบาท หรือ 1.6% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงจากกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์, กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค, และกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ ขณะที่รายได้อื่น อยู่ที่ 3,967 ล้านบาท ลดลง 219 ล้านบาท หรือ 5.2% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักเกิดจากรายได้อื่นที่ลดลงจากกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่

ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมในไตรมาส 4 ปี2562 อยู่ที่ 41,957 ล้านบาท ลดลง 790 ล้านบาท หรือ 1.8% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ค่าใช้จ่ายรวมในช่วงดังกล่าวที่ลดลงเกิดจากต้นทุนขายและต้นทุนการให้บริการที่ลดลงซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับยอดขายที่ลดลง รวมถึงต้นทุนในการจัดจำหน่ายและค่าใช้จ่ายในการบริหารที่ลดลงจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นทั้งในกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภคและกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่, การเปลี่ยนแปลงการบันทึกรายการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และค่าใช้จ่ายที่ลดลงตามยอดขายที่ลดลงของกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่

ส่วนค่าใช้จ่ายรวมงบประจำปี 2562 อยู่ที่ 165,314 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,159 ล้านบาท หรือ 1.3% เมื่อเปรียบเทียบกับงบประจำปีที่แล้ว โดยเป็นผลมาจากต้นทุนขายและต้นทุนการให้บริการเพิ่มขึ้นตามยอดขายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายบุคลากรและค่าสาธารณูปโภคของกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ และดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในไตรมาส 2 ปี2562 จากค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนแปลงการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานหลังออกจากงาน จำนวน 306 ล้านบาท

สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทในไตรมาส 4 ปี 2562 อยู่ที่ 2,473 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 347 ล้านบาท หรือ 16.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยอดขายของกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภคเติบโตขึ้น รวมถึงความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น และอัตราภาษีเงินได้ที่ลดลง ส่วนกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทงบประจำปี 2562 อยู่ที่ 7,278 ล้านบาท เติบโต 628 ล้านบาท หรือ 9.4% เมื่อเปรียบเทียบกับงบประจำปี 2561 ซึ่งเกิดจากกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค และกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ รวมถึงอัตราภาษีเงินได้ที่ลดลง

อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนแปลงการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานหลังออกจากงาน สุทธิจากภาษีนิติบุคคลและผู้ถือหุ้นส่วนน้อยในไตรมาส 2 ปี 2562 จำนวน 237 ล้านบาท และรายการพิเศษที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อย สุทธิจากภาษีนิติบุคคลในไตรมาส 1 ปี2561 จำนวน 191 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทประจำปี 2562 เท่ากับ 7,515 ล้านบาท เติบโตที่ 1,056 ล้านบาท หรือ 16.4% เมื่อเปรียบเทียบกับงบประจำปี 2561

สำหรับกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปี2562 โดยได้เปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ สาขาปากช่อง สาขาไทรน้อย และสาขาปอยเปต ประเทศกัมพูชา, เปิดมินิบิ๊กซี 149 สาขา (ปิด 20 สาขา) และเปิดร้านขายยาเพรียว 2 สาขา ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2562 บริษัทเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 4 สาขา, บิ๊กซี ฟู้ดเพลส 1 สาขา, มินิ บิ๊กซี 300 สาขา (ปิด 67 สาขา) และร้านขายยาเพรียว 5 สาขา

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่มีจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 151 สาขา (บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์และบิ๊กซี เอ็กซ์ตร้า), บิ๊กซีมาร์เก็ต 62 สาขา (บิ๊กซี มาร์เก็ต และ บิ๊กซี ฟู้ดเพลส), มินิ บิ๊กซี 1,016 สาขา (รวมสาขาแฟรนไชส์ 63 สาขา), และร้านขายยาเพรียว 145 สาขา