ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังตลาดผิดหวังจากการประชุมกลุ่มโอเปกและพันธมิตรที่ไม่ปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม

141

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 41-46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (9 – 13 มี.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากกลุ่มโอเปกและพันธมิตรไม่มีข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากการประชุมของกลุ่ม เมื่อวันที่ 5-6 มี.ค. แม้ทางโอเปกต้องการให้ปรับลดกำลังการผลิตลงอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันไว้ก็ตาม นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงกระจายไปยังประเทศต่างๆ นอกเหนือจากประเทศจีน ซึ่งกดดันความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • จับตาท่าทีของกลุ่มโอเปก หลังการประชุม เมื่อวันที่ 5-6 มี.ค. ที่กลุ่มโอเปกและรัสเซียไม่มีการตกลงปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มโอเปกและพันธมิตรปรับลดกำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 63 นี้
  • ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศเกาหลีใต้ อิตาลีและอิหร่าน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในวงกว้าง
  • Morgan Stanley ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันในปี 2563 ลง 300,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ราว 500,000 บาร์เรลต่อวัน โดยสาเหตุหลักในการปรับลดดังกล่าวมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

 

  • กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ออกประมูลขายน้ำมันดิบจากคลังสำรองน้ำมันดิบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve หรือ SPR) ปริมาณ 12 ล้านบาร์เรล จากปริมาณเก็บสำรองน้ำมันดิบทั้งหมด 645 ล้านบาร์เรล เพื่อนำเงินไปปรับปรุงคลังสำรองน้ำมันดิบเชิงยุทธศาสตร์
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกแสดงความพร้อม โดยมีมาตรการรองรับในการช่วยเหลือประเทศสมาชิก รวมถึงเงินช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ออกมาแถลงพร้อมซื้อพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกในเดือน ก.พ. 63 ปรับลดลง 510,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการผลิตน้ำมันดิบของประเทศลิเบียปรับลดลงมาอยู่ที่ 160,000 บาร์เรลต่อวัน หลังถูกปิดท่าเรือขนส่งและแหล่งน้ำมันดิบ
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศญี่ปุ่นและยูโรโซน ไตรมาสที่สี่ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน เดือน ก.พ. 63 และการประชุมเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 – 6 มี.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 41.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 5.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 45.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 48.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังตลาดผิดหวังจากการประชุมของกลุ่มโอเปกและพันธมิตรที่ไม่มีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม และยังถูกกดดันจากความกังวลของตลาดต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับการเตือนภัยของไวรัสโควิด-19 จากเดิมที่อยู่ในระดับสูงมาเป็นระดับสูงมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 จากร้อยละ 1.50-1.75 สู่ระดับร้อยละ 1.00-1.25 เพื่อลดผลกระทบของการแพร่ระบาดต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

www.mitihoon.com