ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 2-6 มี.ค. 63

323

สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 2-6 มี.ค. 63 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 913 มี.ค. 63   โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • Morgan Stanley ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี พ.ศ. 2563 ลงลดจากปีก่อน 800,000 บาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนอยู่ที่ 500,000 บาร์เรลต่อวันหลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยกระดับการเตือนภัยต่อการแพร่ระบาดจากเดิมอยู่ในระดับ “รุนแรง” มาเป็นระดับ “รุนแรงมาก” ซึ่งมีความเสี่ยงการติดเชื้อขยายวงไปทั่วโลก
  • Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ก.พ. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 800,000 บาร์เรล อยู่ที่ 444.1 ล้านบาร์เรล  สูงสุดในรอบ 2 เดือน และ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 13.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เดือน ก.พ. 63 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 10,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 11.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 6 มี.ค.63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน  4 แท่น อยู่ที่ 682 แท่น
  • Commodity Futures Trading Commission (CFCT) รายงานสถานะการลงทุนล่าสุดสัญญาน้ำมันดิบ WTI ที่ตลาด NYMEX นิวยอร์คและที่ตลาด ICE ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 มี.ค. 63 นักลงทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 31,050 สัญญา มาอยู่ที่ 117,535 สัญญา
  • ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ตลาด NYMEX นิวยอร์คและที่ตลาด ICE ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 มี.ค.63 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 60,202 สัญญา มาอยู่ที่ 221,148 สัญญา

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • National Oil Corp. (NOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในวันที่ 2 มี.ค. 63 อยู่ที่ 123,000 บาร์เรลต่อวัน จากผลกระทบของสงครามกลางเมือง ทั้งนี้ปริมาณการผลิตในเดือน ธ.ค. 62 อยู่ที่ 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนจะลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 160,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. 63 ล่าสุดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ณ วันที่ 4 มี.ค. 63 ลดลง 4,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 119,000 บาร์เรลต่อวัน จากปริมาณการผลิตในวันที่ 2 มี.ค. 63
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% มาอยู่ที่ 1.00-1.25% ซึ่งเป็นการปรับลดฉุกเฉินเป็นครั้งแรกตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2551 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเพื่อรับมือผลกระทบจากโรค COVID-19 อย่างไรก็ตาม Fed จะประชุมอีกครั้งในวันที่ 17-18 มี.ค. 63 ซึ่งตลาดต้องการให้ Fed ปรับลดดอกเบี้ยลงกว่านี้ หรือกระทั่งดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณทางการเงิน (QE)
  • Reuters รายงานแผนการส่งมอบน้ำมันดิบจากแหล่งทะเลเหนือ (North Sea) ในยุโรป (5 ชนิด คือ Forties, Brent, Oseberg, Ekofisk, และ Troll) เดือน เม.ย. 63 ลดลงจากเดือนก่อน 27,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 940,000 บาร์เรลต่อวัน

แนวโน้มราคาน้ำมัน                                                                                                                                     ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงรุนแรงมากกว่า 30% จากต้นปี พ.ศ. 2563 โดยซาอุดีอาระเบียลดราคาขายน้ำมันดิบ หลังกลุ่ม OPEC และพันธมิตรซึ่งนำโดยรัสเซีย (OPEC+) ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงลดการผลิตน้ำมันในการประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 63 ซึ่ง OPEC เสนอให้ลดปริมาณการผลิตเพิ่มอีก 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันจนถึงสิ้นปี 2563 จากเดิม OPEC+ ลดปริมาณการผลิต อยู่ที่ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค. 63 OPEC ได้เสนอให้กลุ่มพันธมิตรร่วมมือลดการผลิตน้ำมัน 5 แสนบาร์เรลต่อวัน จากจำนวน 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยอุปสงค์น้ำมันที่ลดลง อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างไรก็ดี รัสเซียไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว โดยยืนยันที่ต้องการให้ OPEC+ ปรับลดกำลังการผลิตตามโควต้าเดิมต่อไปจนถึงสิ้นสุดไตรมาส 2/63 ทั้งนี้หลังจากที่การเจรจาระหว่าง OPEC กับรัสเซียล้มเหลว รมว. กระทรวงพลังงานรัสเซีย นาย Alexander Novak กล่าวหลังการประชุมว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 63 เป็นต้นไป กลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันอีกต่อไป ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียมีแผนเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากในเดือน มี.ค. 63 ที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 10-11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเม.ย.63  และ Saudi Aramco ประกาศลดราคาขายน้ำมันดิบ Arab Light แบบเทอม (Official Selling Price: OSPs) ในทวีปเอเชียอยู่ที่ Oman/Dubai – 3.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, อเมริกาอยู่ที่ ASCI – 3.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ ยุโรปอยู่ที่ ICE Brent – 10.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, 7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  และ 8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับลดราคาที่มากที่สุดในรอบ 30 ปี ทั้งนี้นักวิเคราะห์ต่างคาดว่า ความแตกแยกกันระหว่างผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก อาจฉุดราคาน้ำมันดิบลดลงใกล้เคียงกับระดับราคาในปี พ.ศ.2557 ซึ่ง ซาอุดีอาระเบีย และรัสเซีย ต่างแข่งขันกันเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดน้ำมันกับผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ   ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้ให้จับตาราคาน้ำมันซึ่งผันผวนสูง ล่าสุดน้ำมันดิบ ICE Brent เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 37-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 33-46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Dubai  เคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 36.5 -49.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่องจากแนวโน้มอุปสงค์ที่ลดลงจากผลกระทบของโรค COVID-19 ดังเห็นได้จาก China Passenger Car Association ของจีนรายงานยอดขายรถยนต์ ในเดือน ก.พ. 63 ลดลงจากเดือนก่อน 80% อยู่ที่ 322,800 คัน จากผลกระทบดังกล่าว นอกจากนี้ Korea National Oil Corp. ของเกาหลีใต้รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซิน เดือน ม.ค. 63 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 16% อยู่ที่ 6.15 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ด้านอุปทาน โรงกลั่นน้ำมันทั่วโลกเริ่มเข้าสู่ฤดูปิดซ่อมบำรุง อาทิ โรงกลั่น Hyundai Oilbank (กำลังการกลั่น 520,000 บาร์เรลต่อวัน) ของเกาหลีใต้มีแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วย Crude Distillation (CDU: กำลังการกลั่น 360,000 บาร์เรลตอ่วัน) และ Fluidized Catalytic Cracking (FCC: กำลังการกลั่น 86,000 บาร์เรลต่อวัน) เป็นระยะเวลา 40 วัน  ตั้งแต่เดือน เม.ย. – พ.ค. 63  ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES)  รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 4 มี.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.39 ล้านบาร์เรล  อยู่ที่ 14.24 ล้านบาร์เรล  สูงสุดในรอบกว่า 11 เดือน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้  ราคาน้ำมันเบนซินเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 43.5-56.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากปัจจัยเดียวกันกับเบนซิน กล่าวคือผลกระทบของโรค COVID-19  ดังที่ Korea National Oil Corp. ของเกาหลีใต้รายงานความต้องการใช้น้ำมันดีเซล เดือน ม.ค. 63 ลดลงจากปีก่อน 23.5 % อยู่ที่ 11.78 ล้านบาร์เรล ขณะที่อุปทานยังมีอยู่ปริมาณมาก เช่น โรงกลั่น Yeoso (กำลังการกลั่น 730,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ GS Caltex Corp. มีแผนส่งออกน้ำมันดีเซล จำนวน 3 เที่ยวเรือละๆ 300,000 บาร์เรล  ส่งมอบเดือน เม.ย. 63 ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 มี.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 500,000 บาร์เรล อยู่ที่ 11.9 ล้านบาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ให้จับตาประเด็นการเข้าฤดูปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันจะสนับสนุนทั้งราคาเบนซินและดีเซล เช่น Saudi Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบียปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน Rabigh Refining and Petrochemical (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ในซาอุฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 63 เป็นเวลา 60 วัน และ Sinopec ของจีนมีแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วย Crude Distillates Unit (CDU) ของโรงกลั่น Zhenhai Refinery and Chemical Co. (กำลังการกลั่น 160,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. 63 เป็นเวลา 40 วัน และ CDU ของโรงกลั่น Zhenhai (กำลังการกลั่น 180,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่กลางเดือน พ.ค. 63 ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้ให้จับตาว่าราคาน้ำมันดีเซลเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 45.5-58.5  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

www.mitihoon.com