PRM รับอานิสงส์น้ำมันโลกลด ยอดขนส่งทะลัก-เป้า9.15บ. (11/03/63)

944

มิติหุ้น – PRM คาดยอดบรรทุกน้ำมันพีค หลังต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวลงแรง โบรกฯ ชี้กำไรปี 63 มีลุ้นทำสถิติใหม่ ให้เป้าเฉลี่ย 9.15 บาท ฟากผู้บริหารตั้งเป้าปีนี้เพิ่มอีก 10-15% กางแผนรับมือไวรัส Covid-19 เต็มเหนี่ยว

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.พริมา มารีน หรือ PRM ผู้ให้บริการขนส่งและจัดเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีเหลวทางเรืออย่างครบวงจรรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยแหล่งข่าวนักวิเคราะห์ ประเมิน จากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 50 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล มาสู่ระดับ 30 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล คาดบริษัทฯ จะได้รับประโยชน์ด้านต้นทุน และหนุนให้เกิดยอดการบรรทุกน้ำมันเติบโตขึ้น ขณะที่พื้นฐานธรกิจยังคงเติบโตแข็งแกร่งดีอยู่ ซึ่งมองว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวลงเป็นโอกาสในการหาจังหวะเข้า “ซื้อ” มีราคาพื้นฐานเฉลี่ย 9.15 บาท

ลุ้นกำไรปี 63 ทำสถิติใหม่

ด้านนักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง คาดกำไรปี 63 มีโอกาสทำสถิติใหม่ต่อ จากปี 62 ที่ทะลุ 1,000 ล้านบาท จากกองเรือที่ใหญ่ขึ้น และ อัตรากำไรขั้นต้นที่ขยายตัวถึง 690bps เพราะการมุ่งเน้นในหน่วยที่ให้กำไรสูงอย่าง FSU ที่ได้ประโยชน์จากเกณฑ์ IMO2020 มองว่าบนอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงเช่นนี้ ราคาหุ้นควรจะตอบสนองในเชิงบวกในที่สุด ดังนั้น คงคำแนะนำ “ซื้อ”
นายวิริทธิ์พล จุไรสินธุ์ ผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชี เผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 63 เติบโต 10-15% จากแผนการเพิ่มเรืออีกอย่างน้อย 2 ลำ ได้แก่ เรือขนส่งภายในประเทศ 1 ลำ เพื่อให้บริการเพิ่มเติมแก่ลูกค้า และเรือ FSU อีก 1 ลำ เพื่อรองรับความต้องการกักเก็บน้ำมัน รวมถึงบริษัทฯในปี 2563 ยังจะรับรู้รายได้เต็มปีจากทุกกลุ่มธุรกิจ ทำให้ PRM สามารถเก็บเกี่ยวรายได้อย่างเต็มที่ สิ้นปี 2562 บริษัทฯ มีกองเรือรวมทั้งสิ้น 43 ลำ

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 เพื่อประเมินระดับความรุนแรงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงการบริโภคปิโตรเลียมในประเทศอย่างใกล้ชิด โดยในกรณีที่ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ ได้วางแผนรับมือ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการกองเรือเพื่อบริหารต้นทุนและรักษาคุณภาพการให้บริการแก่ลูกค้า

สำหรับกลุ่มธุรกิจเรือขนส่งภายในประเทศ ปัจจุบันมีเรือให้บริการทั้งสิ้น 31 ลำ วางเป้าอัตราการใช้เรือ 90-95% ในขณะที่กลุ่มธุรกิจเรือ FSU ที่มีเรือให้บริการ 8 ลำ ไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวมากนัก เนื่องจากเป็นการให้บริการภายใต้สัญญาแบบมีระยะเวลา (Time Charter) ระยะยาว และคู่ค้ายังมีความต้องการใช้เรือขนส่งปิโตรเลียมและกักเก็บน้ำมันเตากำมะถันต่ำ ตามกฎข้อกำหนด IMO 2020

www.mitihoon.com