CPF ปันน้ำปุ๋ยเคียงข้างชุมชนสู้ภัยแล้ง เดินหน้าติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ในฟาร์มสุกร

224

มิติหุ้น – บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรรอบฟาร์มและโรงงาน ร่วมบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง สานต่อ ”โครงการปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชน” อย่างต่อเนื่อง ช่วยลดต้นทุนค่าน้ำและค่าปุ๋ย เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร พร้อมเดินหน้าโครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน

นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกร ทำให้ขาดแคลนน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งซีพีเอฟมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรรอบฟาร์มและโรงงานของบริษัทมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินโครงการ “ปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชน” ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2547 โดยปันน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพซึ่งได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดให้กับชุมชนภายนอกเพื่อใช้ในการเพาะปลูก ปัจจุบันให้ความช่วยเหลือเกษตรกรจากทุกภาคทั่วประเทศรวม 180 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 3,170 ไร่ โดยเกษตรกรสามารถนำน้ำปุ๋ยไปใช้ในไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส สวนผลไม้ และแปลงผักสวนครัว ฯลฯ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะฝนทิ้งช่วงและภัยแล้งได้

โครงการ“ปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชน” ช่วยเกษตรกรบริหารจัดการผลผลิตและรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากน้ำปุ๋ยซึ่งมีธาตุอาหารที่เหมาะสมต่อการเติบโตของพืช ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพที่ดีและมีผลผลิตเพิ่มขึ้น และยังช่วยประหยัดต้นทุนค่าน้ำ ลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ถึง 40-50 % โดยในปี 2561 ซีพีเอฟปันน้ำปุ๋ยช่วยเหลือเกษตรกรไปรวม 380,000 ลูกบาศก์เมตร และในปี 2562 ปันน้ำปุ๋ยให้เกษตรกรรวม 465,000 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ เน้นให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ทั้งนี้ โครงการปันน้ำปุ๋ยให้ชุมชนยังเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ข้อ 12 ในประเด็นการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Consumption and Production)คือ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทดแทน เพื่อร่วมบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรรมการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งในปี 2563 นี้ บริษัทฯเดินหน้าโครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซล่าร์ฟาร์ม) โดยขณะนี้ฟาร์มสุกรของซีพีเอฟอยู่ระหว่างการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนพื้นดินนำร่องใน 16 ฟาร์ม ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 3.3 เมกะวัตต์ และมีแผนขยายการดำเนินการติดตั้งไปยังฟาร์มสุกรส่วนที่เหลือของซีพีเอฟต่อไป สอดรับกับนโยบายการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนของบริษัทอยู่ที่ 26 %
คุณตาทา เมืองคำ วัย 71 ปี และคุณยายหนูเสี่ยน เมืองคำ วัย 67 ปี เกษตรกรชาวขอนแก่น และลูกสาว คือ พี่แตน วัย 51 ปี เป็นครอบครัวเกษตรกรที่มีอาชีพทำไร่อ้อยมาตั้งแต่ปี 2538 คุณตาทา เล่าว่า ที่ผ่านมาพึ่งน้ำฝนเพื่อใช้ในการเพาะปลูกมาโดยตลอด ช่วงหน้าแล้งจึงมีปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับความช่วยเหลือจากฟาร์มสุกรขอนแก่นของซีพีเอฟที่ปันน้ำปุ๋ยมาให้ใช้กับไร่อ้อยที่ปลูกไว้ 150 ไร่ ทำให้ต้นอ้อยที่ได้รับน้ำปุ๋ยขึ้นเขียวดี โตสูง ลำต้นโต ขายได้ราคา เพราะน้ำปุ๋ยมีธาตุอาหารที่เหมาะกับพืช หลังได้น้ำปุ๋ยจากฟาร์ม ไม่ต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยเคมีแล้ว จากเดิมที่ต้องเสียเงินค่าปุ๋ยปีละ 100 กระสอบ ราคากระสอบละ 800 บาท ช่วยประหยัดต้นทุนค่าปุ๋ยได้ถึง 80,000 บาทต่อปี ซึ่งเงินในส่วนนี้สามารถนำมาเช่าที่เพื่อปลูกอ้อยเพี่มขึ้น

ด้าน นายธนาศักดิ์ โกศรีรุ่งโรจน์ วัย 50 ปี เกษตรกรในพื้นที่ ต.ตูมใหญ่ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเช่าที่เพื่อปลูกหญ้าเนเปียร์ 100 ไร่ ใกล้ฟาร์มสุกรบุรีรัมย์ของซีพีเอฟ เป็นเกษตรกรอีกรายหนึ่งที่รับน้ำปุ๋ยซึ่งผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพ กล่าวว่า หลังรับปันน้ำจากฟาร์มสุกรมาใช้ ทำให้ผลผลิตหญ้าเนเปียร์เพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 5 ตันต่อไร่ เพิ่มเป็น 10 ตันต่อไร่ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายค่าปุ๋ยได้ถึง 50 % เนื่องจากก่อนการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดจากฟาร์มสุกรมาใช้ ต้องใช้ปุ๋ยเคมี 50 กิโลกรัมต่อพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์ 1 ไร่ แต่หลังจากรับปันน้ำปุ๋ยมาใช้ ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ถึงครึ่งหนึ่ง

www.mitihoon.com