ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 29 ปี-หลังกลุ่มโอเปกล้มเหลวในข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต

64

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 30-40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 33-43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (16-20 มี.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ เนื่องจากกลุ่มโอเปกและพันธมิตรไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบนำโดยประเทศซาอุดิอาระเบีย ประกาศเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตหลังข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตเดิมจะหมดลงในช่วงสิ้นเดือน มี.ค.63 ถือเป็นการประกาศสงครามราคาน้ำมัน นอกจากนั้นตลาดน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แตะระดับมากกว่า 1 แสนคนทั่วโลก ซึ่งกดดันความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • หลังการประชุมในวันที่ 5-6 มี.ค. ระหว่างกลุ่มโอเปกและพันธมิตรที่นำโดยประเทศรัสเซีย ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมได้ ทำให้กลุ่มโอเปกและพันธมิตรจะคงการปรับลดกำลังการผลิตไว้ที่ระดับเดิม 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นเดือน มี.ค 63 ส่งผลให้ในช่วงเดือน เม.ษ 63 กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันประกาศเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิต อาทิเช่น ประเทศซาอุดิอาระเบียประกาศเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นสู่ระดับ 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับปัจจุบันที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เตรียมการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นไปที่ระดับ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับปัจจุบันที่ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเมษายนเช่นกัน
  • นอกจากนั้นประเทศซาอุดิอาระเบียยังประกาศลด Official selling price (OSP) ลงราว 6-8 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล สำหรับเดือนเม.ษ 63 ซึ่งเป็นการลด OSP ต่ำสุดในรอบหลายปี ถือเป็นการประกาศสงครามราคากับประเทศรัสเซียอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ประเทศรัสเซียประกาศว่าราคาน้ำมันดิบในระดับ 25-30 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เป็นระดับราคาที่ประเทศรัสเซียพอใจและสามารถผลิตน้ำมันดิบออกสู่ตลาดได้อย่างน้อย 10 ปี
  • ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกพุ่งขึ้นสูงมากกว่า 1 แสน โดยเฉพาะในประเทศเกาหลีใต้ อิตาลีและอิหร่าน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในวงกว้าง ล่าสุดองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นภาวะโรคระบาดรุนแรง (Pandemic) และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆทั่วโลก ดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดให้มีความรวดเร็วและเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณความน่ากังวลและอาจมีสถานการณ์ที่เลวร้ายมากยิ่งขึ้น
  • ล่าสุดสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้ลงเป็นหดตัว 9 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือเป็นการเติบโตแบบหดตัวครั้งแรกในรอบหลายปี จากเดิมที่คาดการณ์ความต้องการใช้จะขยายตัว 8 แสนบาร์เรลต่อวัน
  • กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการออกประมูลขายน้ำมันดิบจากคลังสำรองน้ำมันดิบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve หรือ SPR) อย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากการราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเดิมกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ออกประมูลขายน้ำมันดิบปริมาณ 12 ล้านบาร์เรล จากปริมาณเก็บสำรองน้ำมันดิบทั้งหมด 645 ล้านบาร์เรล เพื่อนำเงินไปปรับปรุงคลังสำรองน้ำมันดิบเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ การยุติการออกประมูลดังกล่าวทำให้ตลาดคลายความกังวลต่ออุปทานที่จะเพิ่มขึ้นมาในตลาดอีก
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขอัตราว่างงานของประเทศอังกฤษ ดัชนีราคาผู้บริโภคของกลุ่มยูโรโซนเดือน ก.พ. 63 การตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯและธนาคารกลางจีน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 – 13 มี.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 9.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 31.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 11.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 33.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 33.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังตลาดยังคงกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก นอกจากนั้นตลาดยังผิดหวังการประชุมโอเปกและพันธมิตรที่ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม

www.mitihoon.com