เรื่องราว เทคนิค และเคล็ดลับ ของเอสเอ็มอีที่ “อาบน้ำร้อนมาก่อน” ถือเป็นทั้งทางลัดและต้นแบบสำคัญที่สามารถช่วยเอสเอ็มอีรายอื่นๆ ในการนำไปประยุกต์และต่อยอดให้ธุรกิจของตัวเองประสบความสำเร็จได้ ในงาน “วันแห่งโอกาสดี@CP ALL 2020” ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อเร็วๆ นี้ จึงได้รวบรวมเหล่าเอสเอ็มอีที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก มาพูดคุย และแบ่งปันเส้นทางการเติบโตและแนวคิดการพัฒนาธุรกิจ ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่เอสเอ็มอีรายอื่นๆ ให้สามารถก้าวสู่เส้นทางความสำเร็จได้ต่อไป
เริ่มต้นจากบนเวทีเสวนาหัวข้อสำคัญ “SME Key Success : สำเร็จได้ ถ้ารู้เคล็ดลับ” โดย รัตนพงศ์ ศรีโรจน์นันท์ เจ้าของแบรนด์ Royal Beauty ที่สามารถสร้างยอดขายผลิตภัณฑ์ VitC ในเซเว่น อีเลฟเว่น มาแล้วมากกว่า 10 ล้านซอง เล่าว่า กุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเขาประสบความสำเร็จ มาจาก 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1.Counter Brand Image ทำให้ผลิตภัณฑ์มีภาพลักษณ์ที่ดี สวย หรู เช่น ซองต้องดูดี มีราคา เหมือนขายอยู่ในเคาน์เตอร์แบรนด์ เพิ่มระดับความพึงพอใจและไว้วางใจให้แก่ลูกค้า 2.Best Quality คุณภาพในสารสกัดทุกชนิด หรือองค์ประกอบทุกอย่าง คัดสรรของที่ดีที่สุดมาใส่ในซอง 3.Affordable Price ราคาจับต้องได้ โดยสินค้าหลักจะขายอยู่ที่ราคาประมาณ 39 บาท 4.แผนการตลาดที่เหมาะสมและยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงแคมเปญตลอดเวลา เลือกใช้เซเลบริตี้, Influencer, ไปจนถึง “ผู้บริโภคตัวจริง” มารีวิวสินค้าให้อย่างเหมาะสม
“เซเว่น อีเลฟเว่น เองก็มีบทบาทมากในการช่วยปรับปรุงและพัฒนาสินค้า ทั้งการมีทีมฝ่ายผลิตภัณฑ์และฝ่ายการตลาดมาช่วยบอก ช่วยเตือนว่าตอนนี้เทรนด์ไหนกำลังมา สารตัวไหนดี แพ็คเกจจิ้งของเราเป็นอย่างไร ต้องทำอย่างไรจึงจะขายดี และยังมีระบบแสดงยอดขายแบบเรียลไทม์ ทำให้เรารู้ได้ทันทีว่าวันไหนขายดี หรือขายไม่ดี คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากเซเว่น อีเลฟเว่น จึงมีค่ามากสำหรับเรา” รัตนพงศ์ กล่าว
ด้านภักดี เดชจินดา เจ้าของกล้วยหอมทองไร่ภักดี ผู้ได้รับรางวัล “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอีไทยยั่งยืน 2562” สาขา SME สินค้าเกษตร ภายในงาน เล่าว่า ในฐานะเอสเอ็มอีสินค้าเกษตร มีมาตรฐาน 3 ข้อที่เขาให้ความสำคัญอย่างมาก 1.น้ำหนักของกล้วย ต้องเกินเกณฑ์ขั้นต่ำเสมอ เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกคุ้มค่า 2.รสชาติ ต้องกำลังพอดี ไม่จืด ไม่หวานจนเกินไป 3.สีของกล้วย ที่ทำให้กล้วยดูน่ารับประทานมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ในด้านการผลิต นอกเหนือจากที่เขาและญาติพี่น้องจะปลูกกันเองแล้ว เขาได้ร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรกรในการรับซื้อและประกันราคาให้ เพื่อให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิต ภายในช่วงเวลา 4 ปี เขาจึงสามารถเพิ่มยอดขายจาก 2,000 กว่าลูกต่อวัน เป็น 16,000-18,000 ลูกต่อวัน มีสินค้าวางจำหน่ายอยู่ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น 9 จังหวัด รวมกว่า 600 สาขา
“เราจะไม่หยุดเรื่องการพัฒนา พิจารณาดูเสมอว่าสินค้าเรามีด้านไหนที่ยังพัฒนาได้อีกบ้าง ถ้าทางทีมงานซีพี ออลล์แนะนำว่าต้องทำอย่างไรให้มีมาตรฐาน ต้องตอบโจทย์ ถ้าเพิ่มมาตรฐานได้ เราก็จะเพิ่ม เพื่อให้สินค้าถูกใจผู้บริโภคตลอดไป” ภักดี กล่าว
ส่วนนาตยา พูลทั่วญาติ ผู้จัดการสหกรณ์ประมงบางจะเกร็ง–บางแก้ว จำกัด ภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมโครงการ SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ เล่าว่า ที่ผ่านมา สมาชิกสหกรณ์เกือบ 80 ครอบครัว พยายามปรับตัว เปลี่ยนจาก “ผู้ล่า” มาสู่การเป็น “ผู้เลี้ยง” และเพิ่มบทบาทสู่การเป็น “ผู้แปรรูป” เพื่อลดปัญหาการขายสินค้าประมงโดยตรงที่ถูกกดราคาโดยพ่อค้าคนกลาง จนประสบปัญหาขาดทุนอยู่เป็นประจำ โดยสหกรณ์จะเข้าไปมีบทบาทในการช่วยหาตลาด หาวัตถุดิบที่ใช้สำหรับการเพาะเลี้ยง และหาแนวทางการลดต้นทุน ตลอดจนประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาในการเข้ามาให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแก่เกษตรกร ปัจจุบัน สหกรณ์มีสินค้าประมงแปรรูปอยู่ 15 รายการ อาทิ คุกกี้ปลากระพง จ๊อทะเล และครั้งนี้ได้รับโอกาสดีจากทางซีพี ออลล์ ในการนำสินค้าดังกล่าวมาร่วมออกบูธในงานวันแห่งโอกาสดี@CP ALL 2020 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
“สินค้าประมงเป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างมาก แม้วันนี้การแปรรูปสินค้าประมงจะไม่ช่วยให้เราพลิกฟื้นจากขาดทุนสู่กำไรในทันที แต่ก็มีสัญญาณการฟื้นฟูที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราคาดหวังว่าในอนาคต คุกกี้ปลากระพง ซึ่งเป็นสินค้าที่โดดเด่น ไม่มีกลิ่นคาว แต่มีคุณค่าทางโภชนาการ จะสามารถเข้าไปวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและโมเดิร์นเทรดต่างๆ เพิ่มความยั่งยืนทางอาชีพ และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งให้ชาวสหกรณ์มีแรงพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ ต่อไป” นาตยา ระบุ
ขณะที่ ภูเมษ ถิระเดชาพงศ์ ผู้ชำนาญการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ บอกว่า เอสเอ็มอีจะประสบความสำเร็จได้ ต้องคำนึงถึงการสร้างแบรนด์ด้วย เริ่มตั้งแต่ 1.Brand Positioning กำหนดตำแหน่งสินค้าให้ชัดเจน ว่าสินค้าที่จะขายเป็นสินค้าแบบไหน ขายใคร สื่อสารกับใคร อยู่ตรงไหนของสมรภูมิ 2.Brand Personality กำหนดบุคลิกของแบรนด์ เช่น เป็นผู้ให้ เป็นคนเก่ง หรือหากเทียบกับดารา ศิลปิน คนดังแล้ว เป็นใคร ต้องมองแบรนด์เป็นคน และมองคนเป็น แบรนด์ 3.Brand Identity ชูจุดเด่นที่แบรนด์สินค้าของเราไม่เหมือนสินค้าของคนอื่น เช่น เป็นสูตรลับต้นตำรับของครอบครัว
สำหรับสินค้าที่ต้องการนำเสนอเพื่อวางจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จะต้องมีคุณสมบัติต่างๆ อาทิ มีมาตรฐาน สินค้าทุกกลุ่ม ทุกประเภท จะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกอย่างที่ภาครัฐหรือกฎหมายกำหนด เช่น ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐานขององค์การอาหารและยา (อย.) สถานประกอบการมีสุขอนามัยผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มีความสามารถในการแข่งขันในตลาด มีจุดเด่น มีความแตกต่าง เข้าใจและเข้าถึงลูกค้า หมั่นสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า (Engagement) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นเพื่อน เป็นคู่คิดกับลูกค้า เป็นแบบอย่างที่ดี เจ้าของแบรนด์ซึ่งเปรียบเสมือนแบรนด์แอมบาสเดอร์ ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ให้ทีมงาน ครอบครัว สังคม โดยบริษัทให้ความสำคัญกับทั้งคนเก่งและคนดี
แนวคิด เส้นทางธุรกิจ ตลอดจนองค์ความรู้ที่เหล่าเอสเอ็มอีได้แบ่งปันในงาน “วันแห่งโอกาสดี@CP ALL 2020” น่าจะเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้ที่สำคัญให้เหล่าเอสเอ็มอีทุกประเภทสามารถนำไปใช้พัฒนาธุรกิจของตัวเองต่อไปได้ สอดคล้องกับปณิธานของซีพี ออลล์ ที่ต้องการ “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสเพื่อทุกคน”
www.mitihoon.com