มิติหุ้น – “ทรีนีตี้”มองเฟดลดดอกเบี้ยเหลือ 0% พร้อมทำ QE หนุนสภาพคล่องในอนาคต คัดหุ้นที่ลงทุนได้ในภาวะตลาดผันผวนสูง พร้อมแนะนักลงทุนสำรวจพอร์ตหากยังมีสภาพคล่องให้เลือกลงทุนหุ้นเป้าหมายถูกคัดเข้ากองทุน SSF ส่วนพอร์ตรับความเสี่ยงได้ต่ำให้ชะลอลงทุน เพิ่มน้ำหนักลงทุนทองเป็น 10% เหตุยังเป็น Safe Haven
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน โดยครั้งนี้มีมติให้ปรับลดดอกเบี้ยอีก 1% จากเดิมที่กรอบ 1.00-1.25% มาอยู่ที่ 0.00-0.25% พร้อมประกาศการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) โดยกำหนดมูลค่าทั้งสิ้นอย่างน้อย 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่าจะช่วยสร้างสภาพคล่องในตลาดเงินทั่วโลกได้และจะช่วยประคองราคาสินทรัพย์ต่างๆ ในช่วงถัดไปได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้การดำเนินการในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความ Aggressive ของเฟดที่มากขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่ลดลงมาเหลือ 0.00-0.25% นี้ ถือเป็นระดับดอกเบี้ยเดียวกันกับที่เคยนำมาใช้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 ส่วนการประกาศเพิ่มการซื้อสินทรัพย์ถือเป็นปัจจัยบวกที่เกี่ยวข้องกับขนาดงบดุลของเฟดอย่างสำคัญเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เฟดประกาศยุติการลดขนาดงบดุลไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีก่อน
นายณัฐชาต กล่าวว่า ในภาวะแบบนี้อยากให้นักลงทุนสำรวจพอร์ตตัวเองว่าเป็นแบบไหน หากรับความเสี่ยงและความผันผวนได้ต่ำแนะนำให้ชะลอลงทุน ขณะที่นักลงทุนที่ยังมีสภาพคล่องรับความผันผวนและความเสี่ยงได้แนะนำเลือกซื้อ ( Selective buy) หุ้นในจังหวะที่ดัชนีปรับตัวลงมาแรงด้วยความกลัว โดยในมุมมองของทรีนีตี้ประเมินระดับดัชนีที่สะท้อนความกลัวของตลาดไว้ 2 ระดับ กล่าวคือ 1) ระดับดัชนี 970 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียง Forward PE ที่ -1SD จากค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งอยู่ที่ 10.7 เท่า และ 2) ระดับ 760 จุด ซึ่งเป็นระดับเทียบเคียง Forward PE ที่ -2SD จากค่าเฉลี่ย และยังเป็นระดับที่เทียบเท่าการปรับฐานของ SET ในช่วง Lehman crisis ที่ 57% รวมถึงเป็นระดับที่มีค่า PBV เท่ากับจุดต่ำสุดในช่วง Lehman crisis ที่ 0.8 เท่าอีกด้วย
ทั้งนี้ กลุ่มที่แนะนำให้นักลงทุนหาจังหวะการเข้าซื้อในช่วงที่ตลาดปรับฐาน ได้แก่ หุ้นที่คาดว่าจะเป็นเป้าหมายของกองทุน SSF รูปแบบใหม่ที่จะออกมาในเดือนเมษายนนี้ คือ 1) กลุ่มค้าปลีกที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) (CPALL) ,บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ( BJC) เพราะจะได้ผลดีจากการกักตุนสินค้าของประชาชน โดยที่บริษัทเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหาด้านการจัดหาซัพพลายเออร์ หรือต้นทุนโลจิสติกส์แต่อย่างใด นอกจากนั้นยังคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงถัดไปจะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มกำลังซื้อของคนในประเทศอีกด้วย ส่วนปัจจัยที่เคยเป็น Overhang ของกลุ่มก่อนหน้านี้อย่างเช่นประเด็น TESCO ก็เป็นสิ่งที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว
2) กลุ่มสื่อสารที่มีเงินปันผลสูง เช่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (ADVANC) ,บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (INTUCH)
3) กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ราคาปรับลงมาลึกมากแต่ยังมีความน่าสนใจจากรายได้ที่สม่ำเสมอในช่วงที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) มีแนวโน้มต่ำต่อไป เช่น บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM) ,บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)(GPSC) ,บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) ,บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)(EGCO, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH)
4) กลุ่มไฟแนนซ์ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง โดยเน้นไปที่ธุรกิจ AMC เช่น บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)( BAM)
5) กลุ่มอาหารที่เห็นการฟื้นตัวของกำไร เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)(CPF) ,บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)(TU)
ขณะที่การลงทุนในทองคำนั้นยังถือว่าเป็นสินทรัพย์ในกลุ่ม Safe haven ที่น่าสนใจในภาวะตลาดผันผวนต่อไป แนะนำเพิ่มน้ำหนักลงทุนทองคำจากเดิม 5% เป็น 10% ของพอร์ตการลงทุนโดยรวม หลังจากที่ราคามีการปรับฐานลงมาแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการลดดอกเบี้ยของ Fed ลงเหลือ 0% นั้นจะทำให้ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความน่าสนใจในมิติของการเก็บสะสมมูลค่ามากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นจากการที่หลายประเทศหันมาใช้นโยบายการเงินที่ Aggressive คาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางหลายๆประเทศมีแนวโน้มเพิ่มการถือครองทองคำเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศแทนสกุลเงินต่างๆ ที่มีแนวโน้มอ่อนค่ามากขึ้นด้วยเช่นกัน
www.mitihoon.com