DDD เผยปี63 บุ๊กรายได้ “คิวรอน” 10 เดือน-หนุนงบโตแกร่ง

129

 

มิติหุ้น-“ดู เดย์ ดรีม” ซื้อหุ้นกลุ่มบริษัท “คิวรอน” 76% เล็งปี 2563 รับรู้รายได้ 10 เดือน หนุนผลการดำเนินงานสดใส พร้อมกางแผนธุรกิจนำ OXE’CURE บุกตลาดฟิลิปปินส์ เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

นายปิยวัชร ราชพลสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน  บริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด (มหาชน) หรือ DDD เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสเนลไวท์ เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท คิวรอน จำกัด และ บริษัท อเล็กซี่ เทรนนิ่ง แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด (กลุ่มบริษัท “คิวรอน”) จำนวน 76% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้ว เพื่อขยายธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม ในประเภทสินค้าใหม่ซึ่งมีตลาดขนาดใหญ่ทั้งในธุรกิจอุปกรณ์ดูแลผมและผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากผ่านแบรนด์สินค้า ซึ่งเป็นที่นิยมและได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เช่น อุปกรณ์จัดแต่งทรงผม LESASHA และ ยาสีฟัน SPARKLE อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบุคคลที่เชี่ยวชาญในการให้ความรู้และคำแนะนำด้านการขาย การสาธิตสินค้า และตัวแทนขายต่างๆ

อีกทั้งการซื้อหุ้นครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน(Synergy) เช่น การใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในการขายผ่านช่องทาง Online ของคิวรอน และการนำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัท “คิวรอน” ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ผ่านผู้จัดจำหน่าย(Distributor) ของบริษัท เพื่อสร้างโอกาสในการทำกำไร และสร้างผลการดำเนินงานให้เติบโตอย่างมั่นคง

ขณะเดียวกันบริษัทคาดว่าผลประกอบการปี 2563 น่าจะเติบโตกว่าปีก่อน เนื่องจากปีนี้จะมีการรับรู้รายได้จากกลุ่มบริษัท “คิวรอน” ประมาณ 10 เดือน แต่อย่างไรก็ตามบริษัทต้องดูสถานการณ์แพร่ระบาด และการเฝ้าระวังของไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19) ควบคู่ไปด้วย เพราะว่าสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้บริษัทต้องมีการปรับแผนการออกสินค้าใหม่ รวมถึงยังได้มีการปรับแผนโฆษณาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนี้อีกด้วย

พร้อมกันนี้บริษัทยังมีการให้ความสำคัญกับตลาดต่างประเทศ โดยตลาดต่างประเทศบริษัทจะเน้นการขยายตลาดในประเทศฟิลิปปินส์ หลังจากผลิตภัณฑ์สเนลไวท์ได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้ในปีนี้บริษัทจะยังคงผลิตภัณฑ์เดิม และจะมีการขยายตลาดด้วยการนำอ๊อกซี่เคียว (OXE’CURE) เข้าไปจำหน่าย เพื่อสนับสนุนผลการดำเนินงานให้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

นอกจากนี้บริษัทยังคงมองหาเข้าร่วมลงทุน (Joint Venture) และการควบรวมกิจการ (M&A) อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีแหล่งเงินทุนมาจากกระแสเงินสดของบริษัท หรืออาจร่วมกับการใช้เงินกู้ในสัดส่วนที่เหมาะสม

www.mitihoon.com