มิติหุ้น – กลุ่มเจมาร์ท เปิดเกมธุรกิจ Synergy นำจุดแข็งบริษัทในเครือเสริมทัพ โดยมี เจเอ็มที เด่นสุด ส่องแนวโน้ม Q1/63 ธุรกิจบริหารหนี้ยังเติบโตต่อ ขณะที่ธุรกิจมือถือและสินค้าเทคโนโลยีเพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์ และผ่านซิงเกอร์ที่มีตัวแทนขายทั่วประเทศ พร้อมรับมือสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ย้ำกระแสเงินสดของบริษัทเพียงพอต่อการดำเนินงาน และชำระหนี้สถาบันการเงิน
นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เปิดเผยถึง สถานการณ์ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อหลายภาคธุรกิจ โดยกลุ่มเจมาร์ทไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งปรับแผนแก้เกมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวอย่างเข้มข้น โดยมีแต้มต่อจากการผนึกกำลัง Synergy ร่วมกันของบริษัทในเครือ ช่วยสนับสนุนทั้งในด้านการขายสินค้ามือถือ และอุปกรณ์เสริมผ่านช่องทางออนไลน์ พร้อมรับมือสถานการณ์ในช่วงต่อจากนี้ ตอกย้ำช่องทางค้าปลีกที่เข้มแข็ง และมีธุรกิจการเงินที่เป็นฐานกำไรสำคัญ
โดยกลุ่มเจมาร์ท ผู้นำธุรกิจค้าปลีกและการเงินที่มีความแข็งแกร่ง ในฐานะโฮลดิ้ง คอมพานี มีบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) ผู้นำในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ ที่ยังคงสร้างผลประกอบการได้อย่างโดดเด่นสุด ทิศทางการจัดเก็บหนี้สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จากพอร์ตบริหารหนี้สะสมในปัจจุบันอยู่ที่ 177,000 ล้านบาท ขณะที่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) (SINGER) ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อรถทำเงิน มีช่องทาง Direct Sale (ขายตรง) เจาะกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัด สามารถเพิ่มยอดขาย เป็นโอกาสทางธุรกิจแม้ในยามวิกฤตเช่นนี้ได้ ทั้งสองบริษัทย่อยนี้จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศปิดห้างสรรพสินค้าของรัฐบาล
นอกจากนี้ บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อ บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และแอพพลิเคชันทางด้านฟินเทค ธุรกิจยังเดินหน้าได้ตามปกติ แม้โดยภาพรวมมีผลกระทบบ้างกับธุรกิจมือถือ และสินค้าเทคโนโลยีของ บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด และ บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) (J) นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัท บีนส์แอนด์บราวน์ จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารและกาแฟ ที่ปฏิบัติตามมาตรการปิดห้างเพื่อลดความเสี่ยงจากโควิด-19 จึงได้ปรับกลยุทธ์ทำให้ผลกระทบดังกล่าวลดลง และสร้างโอกาสในการขยายช่องทางการจำหน่ายมายังออนไลน์ รวมทั้งเน้นการ Synergy กันมากขึ้น
“ช่วงเวลาที่ผ่านมาเกือบไตรมาส บริษัทที่เป็นหัวหอกในการทำธุรกิจของกลุ่มเจมาร์ท คือ เจเอ็มที เราคาดว่าผลงานน่าจะเติบโตกว่าไตรมาส 1 ของปีที่แล้ว คนยังชำระหนี้อยู่ และมีโอกาสซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารได้มากขึ้น ขณะที่ ซิงเกอร์สามารถทำผลงานได้ดีขึ้นเช่นกัน แอร์ยังคงดันยอดขายให้ต่อเนื่อง และเป็นช่วงเวลาที่พลัง Synergy ของกลุ่มเจมาร์ท ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายอดิศักดิ์ กล่าว
โดยในสภาวะการณ์ที่ต้องปฎิบัติตามนโยบายของภาครัฐนั้น บริษัทสามารถปรับเกมธุรกิจโดยให้พนักงานหน้าร้านที่ต้องปิดตามนโยบายภาครัฐส่วนหนึ่งเข้ามาทำงานในส่วนงานของธุรกิจติดตามหนี้ของ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) เพื่อเพิ่มกระแสเงินสดให้กับบริษัทย่อย เสริมศักยภาพในการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท
ในด้านสถานะการเงิน บริษัทได้วางแผนกระแสเงินสดล่วงหน้าไว้แล้วทั้งปี 2563 นี้ โดยปัจจุบันเจมาร์ท มีเงินสดมากกว่า 500 ล้านบาท และส่วนของเจเอ็มที ก่อนหน้านี้ต้นเดือนมีนาคมได้ระดมทุนจากการออกหุ้นกู้ไปกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมกระแสเงินสดที่เจเอ็มที จัดเก็บได้แต่ละเดือน ซึ่งเพียงพอต่อการจ่ายชำระหนี้คืนให้กับสถาบันการเงิน และหุ้นกู้ที่ครบกำหนด
“เจมาร์ทให้ความสำคัญกับช่องทางผ่าน Synergy ของบริษัท เรามีทรัพยากร และช่องทางการจำหน่ายบริษัทอื่นๆ หรือคู่แข่งไม่มี และในสถานการณ์ปัจจุบัน เราได้รุกการขายสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น รวมถึงใช้ช่องทางการขายของ ซิงเกอร์ที่มีช่องทางการขายทั่วประเทศ รับมือสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้ง ภาพวันนี้ถือว่าเป็นการสะท้อนแผน Synergy ผลิตภัณฑ์ภายในกลุ่มเจมาร์ท เพื่อจัดการกับสถานะการณ์วิกฤตินี้อย่างแข็งแรง” นายอดิศักดิ์ กล่าว
www.mitihoon.com