จับตาเลิกขายประกันโควิด ลูกค้าหวั่นเคลมได้ไม่จริง!

837

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ที่สะพัดข้ามประเทศจากจุดเกิดเหตุ เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มาถึงประเทศไทย ทันทีที่ปรากฎมีผู้ติดเชื้อรายแรก บรรดาบริษัทประกันภัยและประกันชีวิตต่างพาเหรดกันเปิดตัวประกันภัยไวรัสโคโรนากันเป็นแถว ซึ่งกำหนดเงื่อนไขคุ้มครองกับราคาค่าเบี้ยสุดแสนจะดึงดูด ทำให้ผู้คนตัดสินใจยอมจ่ายเพื่อทำประกันภัยป้องกันความเสี่ยงกันง่ายๆ

ยกเลิกขายหวั่นเกิดทุจริตเคลม

โดยเฉพาะเงื่อนไข “จ่าย เจอ จบ” ที่เมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อ ผู้ถือกรมธรรม์จะได้รับเงินก้อนทันทีสูงสุดถึง 100,000 บาท จุดสำคัญคือ ผู้ทำประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองทันทีที่ชำระค่าเบี้ย โดยไม่มีระยะรอคอย 14 วัน ทั้งนี้จากการสำรวจ ณ ขณะนั้นพบมีแผนประกันหลายแผนให้เลือกทำ ทั้งราคาและวงเงินคุ้มครอง รวมถึงเงื่อนไขจะแตกต่างกันไป เช่น บมจ. สินทรัพย์ประกันภัย ที่เปิดตัวแผนประกันภัยคุ้มครองโควิด ในราคาเพียง 99 บาท และเมื่อตรวจเจอว่าติดเชื้อรับเงินทันที 15,000 บาท หรือ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย ที่มีแผนประกัน2 ราคาค่าเบี้ย 450 บาท ตรวจเจอว่าติดเชื้อรับทันที 100,000 บาท เป็นต้น

ด้วยเงื่อนไขแบบ เจอ จ่าย จบ นี้เอง ทำให้เกิดมีกระแสว่าอาจเป็นช่องทางให้เกิด “ทุจริตการเคลมประกัน” ได้ หลังจากปรากฎมีข้อมูลในโลกออนไลน์ พบมีผู้ถือกรมธรรม์ประกันรูปแบบดังกล่าวไว้มากถึง 9 ฉบับ ซึ่งราคาค่าเบี้ยรวมแล้วอยู่ราวๆ 4,000-5,000 บาท หากแต่ความคุ้มครองที่จะได้รับจากกรมธรรม์ ในกรณีที่ตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัส รวมจะเป็นเงินสินไหมทดแทนเกือบ 900,000 บาท!

ยากตีความลูกค้าจงใจติดโควิด

กรณีนี้นายพิเชษฐ เจียรมณีทวีสิน นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า การทุจริตเคลมประกัน นั้น ว่ากันอีกในทางหนึ่ง คือการที่ผู้ถือกรมธรรม์ประกันไวรัสโควิด อาจกระทำการด้วยการจงใจที่จะเอาตัวเองไปติดเชื้อ เพื่อหวังจะได้เงินสินไหม แม้ในเงื่อนไขในกรมธรรม์จะระบุไว้ว่า จะไม่จ่ายสินไหมถ้าพบว่าผู้ถือกรมธรรม์จงใจไปติดเชื้อโดยพิสูจน์ได้ ซึ่งความยากจะอยู่ที่การพิสูจน์ การตีความและนิยามของพฤติกรรมในลักษณะใดจึงจะเข้าข่ายคำว่า “จงใจ” ดังนั้นจึงถือว่าบริษัทประกันภัยมีความเสี่ยง หากต้องเจอกับการเคลมในลักษณะที่ว่า

ชี้ช่องต้องรู้กรมธรรม์มีผล

ทั้งนี้เมื่อยอดจำนวนผู้ทำประกันภัยพุ่งสูงจนเกือบแตะระดับเพดานความเสี่ยง หลายบริษัทจึงยกเลิกประกันภัยแบบ “ตรวจเจอแล้วจ่าย” เพื่อลดความเสี่ยงทันที ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ณ 19 มีนาคม 2563 พบมีบริษัทประกันภัยยื่นขอออกประกันภัยไวรัสโควิด 25 บริษัท มียอดขายกรมธรรม์รวมแล้วกว่า 2 ล้านฉบับ

ในขณะที่บรรดาผู้ถือกรมธรรม์ไวรัสโควิดไว้หลายฉบับ เริ่มมีความกังวลว่า บริษัทประกันภัยจะรับเคลมได้จริงหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย บอกไว้ชัดเจนว่า หากไม่มีการสอบถามจากทางบริษัทประกันภัย และมีเอกสารกรมธรรม์ออกมาให้กับลูกค้า ให้ถือว่ากรมธรรม์ฉบับนั้นสมบูรณ์ตามกฎหมาย และผู้ถือกรมธรรม์สามารถเรียกร้องสินไหมได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ทุกประการ

www.mitihoon.com