คอลัมน์ KTBST Build Your Net Worth
สัปดาห์สุดท้ายของเดือน มี.ค. ต่อเนื่องถึงเดือนเม.ย. วิกฤตการระบาดของ COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงผู้ติดเชื้อทั่งโลกกำลังเข้าใกล้ระดับ 1 ล้านราย ปัจจุบันกำลังเข้าใกล้ระดับ 8 แสนรายแล้ว ขณะที่ความผันผวนราคาสินทรัพย์ต่างๆยังมีในระดับสูง แม้การอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสภาพคล่องก็ต้องใช้เวลาอีกระยะถึงจะเริ่มเห็นผล
KTBST SEC ประเมินว่า ทิศทางตลาดในเดือน เม.ย. จะเคลื่อนไหวตามตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญๆของสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ที่จะทยอยประกาศออก ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ตัวเลขดัชนีภาคการผลิต (PMI) ซึ่งมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในทุกประเทศ แต่ล่าสุดตัวเลข PMI ของจีนในเดือนมี.ค. ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 52 เป็นสัญญาณการฟื้นตัวหลังจากสามารถควบคุมอัตราการแพร่ระบาดของโควิต-19 ได้เป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ตามคาดว่าการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์เสี่ยงยังคงแกว่งตัวลงสลับกับมีการดีดตัวบวกขึ้นมาในระยะสั้นแต่ไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ เนื่องจากมีปัจจัยเรื่อง COVID-19 คอยกดดันตลาดอยู่เป็นระยะ แม้ว่าทางสหรัฐฯและองค์การอนามัยโลกจะเริ่มออกมาประเมินถึงจุดสูงสุดของสถานการณ์การระบาดแล้ว
เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ใช้มาตรการควบคุมการระบาดทั่วประเทศ ไปถึงสิ้นเดือน เม.ย. หากตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้นมาก ผลลบต่อตลาดหุ้นจะลดลง อย่างไรก็ตาม ความเสียหายในเชิงผลกำไรของตลาดหุ้น คาดว่ากระทบอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0-2.0 แสนล้านบาท ซึ่งทำให้ผลกำไรของตลาดหุ้นในไตรมาส 1 จะออกมาไม่ดีมาก ซึ่งก็ต้องประเมินสถานการณ์เป็นระยะต่อไปเพื่อกำไรทิศทางและการลงทุน
ทั้งนี้คำแนะการจัดสินทรัพย์ลงทุน KTBST SEC ในช่วงสั้นยังแนะนำให้เน้นลงทุนสินทรัพย์ที่ได้ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยขาลงและการฟื้นตัวของอัตราเงินเฟ้อเช่นเดิม ได้แก่ การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว สัดส่วน 20% ตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ทองคำ 5% และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 25% ขณะเดียวกันนี้ยังมองความน่าสนใจของการลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่สามารถทยอยสะสมได้ หลังจากที่ปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ KTBST SEC ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทน้ำมัน เนื่องจากราคาที่ปรับตัวลงไปต่ำกว่าต้นทุนของการผลิต รวมทั้งมองว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมในจีนมีโอกาสฟื้นตัวได้ในช่วงต้นเดือนหน้าหลังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิต-19 ได้อย่างเข้มงวด ในระยะสั้นทาง KTBST SEC มองว่าราคาน้ำมันดิบ WTI มีโอกาสฟื้นตัวกลับไปบริเวณ 27-30 เหรียญฯต่อบาร์เรล และ แต่มองจุดตัดขาย (Cut loss) หากราคาน้ำมันดิบลงมาต่ำกว่าระดับ 20 เหรียญฯต่อบาร์เรล ติดตามข่าวสารการลงทุนได้จาก ”มุมความรู้” https://www.ktbst.co.th/th/knowledge.php
โดยชาตรี โรจนอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์
บล. เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST)