สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 30 มี.ค. – 3 เม.ย. 63 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 6 – 10 เม.ย. 63 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- วันที่ 2 เม.ย. 63 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump กล่าวว่าตนอาจร่วมประชุมกับประธานาธิบดีรัสเซีย นาย Vladimir Putin และมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย Mohammed bin Salman (MBS) เพื่อแก้ไขสถานการณ์ตลาดน้ำมันตกต่ำโดยอาจมีการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบรวม 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 3 เม.ย. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 62 แท่น ลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2558 อยู่ที่ 562 แท่น
- นาย Jason Kenney ผู้ว่าการรัฐ Alberta ของแคนาดาแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบร่วมกับผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ทั้งนี้ แคนาดาเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก ผลิตน้ำมันในระดับ 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรัฐ Alberta
- Reuters รายงานแผนการส่งมอบน้ำมันดิบ 5 ชนิดจากแหล่งในทะเลเหนือ (North Sea) ซึ่งใช้คำนวณราคา Brent ที่ใช้อ้างอิงทั่วโลกได้แก่ Forties, Brent, Oseberg, Ekofisk, และ Troll ในเดือน พ.ค. 63 ลดลงจากเดือนก่อน 124,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 813,000 บาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบีย ณ วันที่ 31 มี.ค. 63 เพิ่มขึ้นอยู่สูงกว่าระดับ 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ปริมาณการผลิตเฉลี่ยเดือน มี.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแผนส่งออกน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 600,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 10.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Rystad Energy บริษัทวิจัยด้านพลังงานคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันของโลกในเดือน เม.ย. 63 จะลดลงจากปีก่อนกว่า 23% อยู่ที่ 77.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ Reuters คาดว่าอาจจะลดลงจากปีก่อน 20-30%
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 มี.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 13.8 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 469.2 ล้านบาร์เรล เป็นการเพิ่มขึ้นต่อสัปดาห์สูงที่สุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 59
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นโดยราคาปิดตลาดวันที่ 2 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้นถึง 5.2 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังประธานาธิบดี Donald Trump แห่งสหรัฐฯ กล่าวผ่านทวิตเตอร์ว่าได้สนทนาทางโทรศัพท์กับมกุฎราชกุมาร MBS ของซาอุดีอาระเบียซึ่งอาจยุติสงครามราคาน้ำมันกับรัสเซียทำ อย่างไรก็ดีในเวลาต่อมาซาอุดีอาระเบีย และรัสเซียชะลอการประชุมกลุ่ม OPEC+ เพื่อร่วมกันลดปริมาณการผลิตน้ำมัน จากเดิมซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 6 เม.ย. 63 มาเป็น 9 เม.ย. 63 แม้ผู้เจรจาหลักของรัสเซีย นาย Kirill Dmitriev จะออกมาแถลงว่าทั้ง 2 ฝ่ายใกล้บรรลุข้อตกลงก็ตาม ทั้งนี้ Reuters รายงานท่าทีจากแหล่งข่าวกลุ่ม OPEC ว่าต้องการให้สหรัฐฯ เข้าร่วมลดปริมาณการผลิตด้วย อีกทั้งในวันที่ 10 เม.ย. 63 ซาอุดีอาระเบียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีพลังงาน G-20 ทางวีดีโอ เพื่อดึงให้สหรัฐฯ ซึ่งยังไม่ได้ตกลงเข้าร่วมลดการผลิตอย่างชัดเจน สำหรับประเด็นกฎหมายต่อต้านการผูกขาด (Antitrust law) ของสหรัฐฯ ที่ห้ามผู้ผลิตดำเนินการจำกัดการผลิตเพื่อผลักดันราคา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจาก Cleveland-Marshall College of Law และสำนักกฎหมาย Pepper Hamilton LLP เห็นว่าหากรัฐบาลกลางกำหนดระดับการผลิต ผู้ผลิตสามารถดำเนินการตามได้ อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ Rystad Energy เห็นว่าแม้กลุ่ม OPEC+ จะสามารถตกลงร่วมกันลดปริมาณการผลิตถึง 15 ล้านบาร์เรลต่อวัน อาจยังไม่เพียงพอกับอุปทานน้ำมันซึ่งคาดว่าจะล้นตลาดอยู่ที่ 23 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. 63 ด้วยผลกระทบจากเชื้อ COVID-19 ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30-35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 21-26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 25-30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากอุปสงค์น้ำมันเบนซินลดลงหลังหลายประเทศประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิว (Curfew) และปิดประเทศ (Lockdown) เพื่อจำกัดการแพร่เชื้อ COVID-19 อาทิ Nigerian National Petroleum Corp. (NNPC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของไนจีเรียแถลงงดการนำเข้าน้ำมันเบนซินเพราะมีปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเพียงพอสำหรับใช้เป็นเวลา 2 เดือน (ไนจีเรียเป็นผู้ใช้น้ำมันเบนซินรายใหญ่ในแอฟริกาปกตินำเข้าน้ำมันเบนซินปริมาณ 8-11 ล้านบาร์เรลต่อเดือน อุปสงค์ที่ชะลอตัวทำให้โรงกลั่นลดอัตราการกลั่น หรือหยุดดำเนินการ อาทิ โรงกลั่น Manali (กำลังการกลั่น 210,000 บาร์เรลต่อวัน) ในอินเดียของ บริษัท Chennai Petroleum ในอินเดียลดอัตราการกลั่นอยู่ที่ 40 % หลังจากอินเดียประกาศปิดประเทศตั้งแต่ 25 มี.ค. 63 และโรงกลั่น Engen (กำลังการกลั่น 125,000 บาร์เรลต่อวัน) ใน Durban ประเทศแอฟริกาใต้ประกาศหยุดดำเนินการชั่วคราวหลังรัฐบาลประกาศปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 63 อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 มี.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 7.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 246.8 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 เม.ย. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.15 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.1 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 20-25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากอุปสงค์น้ำมันดีเซลในภูมิภาคเอเชียลดลงประกอบกับ Platts รายงานโรงกลั่นในอินเดียออกประมูลขายน้ำมันดีเซล ในเดือน เม.ย. 63 ปริมาณ 2.9 ล้านบาร์เรล สูงกว่าเดือน มี.ค. 63 ที่ระดับ 1.50 ล้านบาร์เรล อีกทั้งอัตราการกลั่นของโรงกลั่นอิสระของจีนในเดือน มี.ค.63 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 18.8% มาอยู่ที่ระดับ 60.3% อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 27 มี.ค. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 122.2 ล้านบาร์เรล และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 เม.ย. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.93 ล้านบาร์เรล ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35-40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
www.mitihoon.com