ก่อนไวรัสโควิด-19 มาเยือน ประเทศไทยมีคนยากจนตามบัตรคนจนอยู่แล้ว 14.5 ล้านบาท ที่รัฐบาลเสี่ยกำมะลอ เทียวไล้เทียวขื่อจะหาเรื่องแจกเงินด้วยวิธีการต่างๆ 2 รอบ 3 รอบ
เรียกว่าถ้าไม่ถูกเบรคไปก่อนที่ “โควิด” จะมา ก็ทำท่าจะแจกอีกรอบ เพื่อฉุดภาวะภาวะเศรษฐกิจไม่ให้ดิ่งลงเหว
แต่พอ “โควิด” เข้ามา ก็ได้เห็นจำนวนคนจน คนว่างงาน และคนขาดรายได้พุ่งพรวดไปถึงกว่า 24.5 ล้านคน ตามที่ไปลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” เพื่อรอรับเงิน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
แต่เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ผ่านมา นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการดูแลผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจจากโควิด ระยะที่ 3 โดยจะใช้เงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ดำเนินการโดยออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง 1 ล้านล้านบาท
ส่วนอีก 2 ฉบับเป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน 4 แสนล้านบาท
โดย พ.ร.ก.กู้เงินที่ว่านี้ มีสาระสำคัญ คือ ให้กระทรวงการคลังกู้เงินในกรอบวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการเยียวยา หรือให้เงินสนับสนุนผู้ที่ลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาท เพิ่มขึ้นอีก 3 เดือน เป็น 6 เดือน หรือผู้ที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์และผ่านเกณฑ์การตรวจสอบแล้ว จะได้รับเงิน 5,000 บาท จำนวน 6 เดือน รวม 3 หมื่นบาท
รวมทั้งช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ หลังจากนี้จะมีการกำหนดแนวทางการดูแลออกมาอีกครั้งว่าจะครอบคลุมกลุ่มใดบ้าง รวมทั้งการสาธารณสุข ในส่วนนี้จะใช้เงิน 6 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาท เป็นการดูแลเศรษฐกิจรวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
สำหรับการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น จะกู้เป็นสกุลเงินบาทเป็นหลัก กำหนดเวลาการกู้ต้องเสร็จสิ้นภายใน 30 ก.ย.64 หรือ 1 ปี 6 เดือน ส่วน พ.ร.ก.2 ฉบับของธปท. ยืนยันว่า ไม่ได้หยิบเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้ แต่ใช้เงินของ ธปท.ที่มีอยู่ในระบบ
ทางด้าน นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า คลังพร้อมโอนเงินชดเชยรายได้ให้ผู้ผ่านการตรวจสอบวันแรก เริ่ม 8 เม.ย.63 เป็นต้นไป โดยช่วง 3 วันแรก 8-10 เม.ย.63 จะมีผู้ได้รับเอสเอ็มเอสพร้อมเงินโอนเข้า 1.6 ล้านคน แบ่งเป็นวันแรก 8 เม.ย.มีผู้ได้เงินกว่า 2 แสนคน คิดเป็นวงเงินกว่า 1 พันล้านบาท วันที่ 9 เม.ย. โอนได้ 7 แสนคน และวันที่ 10 เม.ย. โอนได้ 6 แสนคน ครอบคลุมกลุ่มอาชีพค้าขาย อาชีพอิสระ คนขับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ มัคคุเทศก์ คนขายลอตเตอรี่
ทั้งนี้ ประเมินว่า ผู้ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 6 เดือน จะมีไม่เกิน 8 ล้านคน จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 24.5 ล้านคน โดยประเมินจากฐานข้อมูลกลุ่มอาชีพอิสระ รับจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว กิจการส่วนตัว ค้าขายที่มีกว่า 3 ล้านคน และอาชีพอิสระที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 39-40 อีก 5 ล้านคน
ดังนั้นคนไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจะมีมากกว่าคนได้รับเงิน เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นเกษตรกร ซึ่งกลุ่มคนนี้แม้จะไม่ได้รับ 5,000 บาท แต่รัฐบาลจะมีมาตรการอื่นช่วยเพิ่มเติมต่อไป
“เสือออนไลน์” เชื่อว่ากว่า 24.5 ล้านคน ที่ลงทะเบียนไว้ ทุกคนเดือดร้อนกันทั้งนั้น แต่รัฐบาลคงจะได้ช่วยเหลือได้แค่ 1 ใน 3 ของจำนวนผู้มาลงทะเบียนเท่านั้น แล้วที่เหลือจะทำอย่างไร?
เพราะงานนี้อุทธรณ์ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอาชีพตัดผม ร้านเสริมสวย พนักงานร้านอาหาร ผับ บาร์ นักร้อง นักดนตรี แดนเซอร์ คอนวอย คนขับรถตู้ ฯลฯ อีกจำนวนมากจะทำอย่างไร เนื่องจากได้รับผลกระทบกันทั้งนั้น ทุกคนล้วนมีภาระเรื่องการเลี้ยงปากท้อง แล้วส่วนใหญ่มีหนี้สิน ยังต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนเครื่องไม้เครื่องมือทำมาหากิน เรียกว่าเป็นหนี้กันเพียบ! ก่อน “โควิด” จะมาเสียด้วยซ้ำ
เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศไม่ดีอย่างต่อเนื่องมากว่า 5 ปีแล้ว ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องหนี้สินครัวเรือน และหลังจากนี้ก็เป็นภาระหนี้ของประเทศอีกก้อนใหญ่ ทั้งที่ “โควิด” ยังไม่ทันจากไป แต่คนไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้กันหลังอานแล้ว โดยไม่รู้ว่าจะใช้หนี้หมดกันเมื่อไหร่!!
โดย..เสือออนไลน์
ที่มา:http://www.natethip.com/news.php?id=2055
www.mitihoon.com