EPG อ้าแขนรับโชคใหญ่ น้ำมันดิ่งต้นทุนลดฮวบ (13/04/63)

246

มิติหุ้น – EPG รับอานิสงส์ต้นทุนลดฮวบหลังราคาน้ำมันตลาดโลกดิ่ง โบรกฯ อัพผลงานงวด Q4/62-63 (ม.ค.-มี.ค.63) เพิ่มส่วนทั้งปีคาดกำไรโตฉลุย 8% ยันทุกธุรกิจยังโตแกร่ง นะ“ซื้อ” ด้านผู้บริหารเผยล่าสุด รง.ในสหรัฐได้ไฟเขียวเดินเครื่องต่อช่วงโควิดระบาด

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป หรือ EPG ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก โดย “แหล่งข่าววงการอุตสาหกรรม” เปิดเผยว่า บริษัทได้รับปัจจัยบวกจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 63 วันที่ 8 ม.ค.63 ที่ราคาเปิด 62.67 เหรียญ กระทั่งถึงปัจจุบัน 9 เม.ย.63 ราคาเปิดอยู่ที่ 26.10 เหรียญ ราคาปรับตัวลงมาแล้ว 58.35% ซึ่ง EPG ถือเป็นผู้ใช้เม็ดพลาสติกอันดับต้นๆ ของประเทศ ทำให้ได้รับประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าวค่อนข้างมาก

งบQ4เด่น-อัพเป้ากำไร
ด้านนักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินแนวโน้มกำไรสุทธิงวดไตรมาส 4 ปี 62/63 (ม.ค.-มี.ค.63) จะดีกว่าที่เคยคาดจากเงินบาทอ่อนค่าและต้นทุนวัตดุดิบที่ถูกลง โดยประเมินกำไรสุทธิไว้ที่ 215 – 230 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย และปรับคาดการณ์กำไรสุทธิ งวดปี 62/63 (เม.ย.62-มี.ค.63) ขึ้นจากเดิมอีก 2 % เป็น 973 ล้านบาท เติบโต 8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ทั้งนี้ บริษัทได้ผลบวกจากธุรกิจ “Aeroflex” ที่เติบโตเด่น โดยเฉพาะตลาดในสหรัฐ ที่ยังได้รับอานิสงส์จากคู่แข่งที่มีปัญหาซัพพลายเชน ทำให้หันมาสั่งสินค้าจาก Aeroflex มากขึ้น ส่วนธุรกิจ “Aeroklas” มีแนวโน้มดีกว่าคาดจากลูกค้ากลับมาสต็อกสินค้า หลังสต็อกเดิมลดลงในช่วงปลายปี สำหรับธุรกิจ “EPP” ได้ผลกระทบจากโควิด-19 บ้าง ทำให้ความต้องการใช้แพคเกจจิ้งเครื่องดื่มลดลง แต่ยังได้ชดเชยจากสินค้าแพคเกจจิ้งอาหารเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบที่ถูกลง ดังนั้น แนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 4.50 บาท

ไฟเขียวรง.ในสหรัฐ

นายเฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า ล่าสุดบริษัทย่อย Aeroflex USA Inc.สหรัฐอเมริกา ที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายฉนวนกันความร้อน/เย็น ได้รับอนุญาตจากทางการสหรัฐให้เปิดทำการต่อเนื่องจากผลิตสินค้าจำเป็น พร้อมวางมาตรการคุมเข้มป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ส่วนแนวโน้มรายได้ปีนี้  (เม.ย.62 – มี.ค.63)  คาดทรงตัวหรือทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อน (เม.ย.61 – มี.ค.62) เป็นผลตามภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ชะลอตัว รวมถึงผู้บริโภคอยู่ระหว่างตัดสินใจหรือรอการเปลี่ยนโมเดลรถรุ่นใหม่ หรือรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาทดแทนในอนาคต