ราคาน้ำมันดิบทรงตัว แม้โอเปกและพันธมิตรตกลงปรับลดกำลังการผลิต 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน

123

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 13 เมษายน 2563

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 25-30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 31-36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (13 – 17 เมย. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว หลังการประชุมฉุกเฉินระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือโอเปกกับประเทศพันธมิตรที่นำโดยรัสเซียในวันที่ 9 เม.ย. 63 รวมทั้งการประชุม G20 เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 63 มีมติปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกหดตัวลง นอกจากนี้ กำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากผลกระทบด้านราคาที่ปรับลดลงและอุปสงค์ที่เบาบาง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกยังอ่อนตัว เนื่องจากมาตรการปิดเมือง จำกัดการทำกิจกรรม รวมทั้งจำกัดการเดินทางในหลายประเทศ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังการประชุมฉุกเฉินผ่านการประชุมทางไกล (Video conference meeting) ระหว่างกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรที่นำโดยรัสเซียในวันที่ 9 เม.ย. ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปร่วมกันในการปรับลดกำลังการผลิต 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 63 ปรับลด 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. 63 และปรับลด 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 64 เพื่อสร้างเสถียรภาพของตลาดน้ำมันหลังตลาดได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกในกลุ่มโอเปกต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบจะสำเร็จก็ต่อเมื่อสหรัฐฯ แคนาดา และบราซิลเข้าร่วมการลดกำลังการผลิตในข้อตกลงครั้งนี้
  • ทางด้านประเทศนอกกลุ่มโอเปก เช่น สหรัฐฯ และแคนาดา ได้ตกลงที่จะร่วมมือปรับลดกำลังการผลิต 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ในวันที่ 10 เม.ย. 63 ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีขึ้นเพื่อส่งเสริมการหารือและความร่วมมือในระดับโลกในการรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน และสร้างความแข็งแกร่งต่อเศรษฐกิจโลก
  • จีนมีแผนในการดำเนินการซื้อน้ำมันเข้าคลังสำรองทางยุทธศาสตร์เพิ่มเติม หลังราคาน้ำมันร่วงลงอย่างหนักจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบกับ ทางการจีนยังได้สนับสนุนให้บริษัทเอกชนเร่งซื้อน้ำมันเก็บเข้าคลังสำรองของตนเองด้วย นอกจากนี้ จีนยังมีแผนเพิ่มความจุของคลังสำรองฉุกเฉิน และเพิ่มการก่อสร้างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจีนในช่วงเวลาที่จีนกำลังฟื้นตัวจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
  • ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เผยว่าแม้ว่าโอเปกและพันธมิตรจะสามารถบรรลุข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบได้ แต่ยังไม่เพียงพอต่อการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของอุปสงค์การใช้น้ำมันดิบและสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยทั่วโลก จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
  • รายงานประจำเดือน เม.ย. 63 ของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ได้คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกปี 2563 หดตัวลง 25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงสวนทางกับความต้องการใช้น้ำมันในปีก่อนหน้าที่เติบโตที่ระดับ 0.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ จะลดลงไปแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 20 ปีในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2563 นี้ และคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ จะลดลง 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้
  • ปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง หลัง EIA รายงานตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 เม.ย. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 15.2 ล้านบาร์เรล มาแตะที่ระดับ 484 ล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 9.25 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับลดกำลังการผลิตลงมาสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2551
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 63 กำลังการผลิตด้านอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 63 จำนวนผู้ว่างงานสหรัฐฯ มี.ค. 63 จีดีพีจีนไตรมาส 1/63 และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซนเดือน มี.ค 63

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 – 10 เม.ย. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 5.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 22.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 31.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 23.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันจากความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันโลกที่ยังคงล้นตลาด ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ว่าการประชุมฉุกเฉินผ่านการประชุมทางไกลระหว่างกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรในวันที่ 9 เม.ย. 63 มีการพิจารณาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงราว 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. นี้ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของอุปทานการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก แต่ตลาดมองว่ายังไม่สามารถทดแทนปริมาณความต้องการน้ำมันดิบที่หายไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นได้

www.mitihoon.com