สานสัมพันธ์ครอบครัวด้วยเทคโนโลยีอย่างไรให้มีความสุขและหยุดเสี่ยงรับเชื้อ

163

มิติหุ้น-สถาบันครอบครัวถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะสังคมไทยที่ครอบครัวมีความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ทั้งนี้ ในอดีตครอบครัวไทยมักเป็นครอบครัวขยาย แต่ทุกวันนี้ด้วยปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ทำให้ครอบครัวยุคใหม่มีจำนวนสมาชิกน้อยลงและมีรูปแบบที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งแบบครอบครัวที่มีลูกเล็ก ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวข้ามรุ่นที่ผู้สูงอายุอยู่กับหลาน ครอบครัวที่ไม่มีลูก ครอบครัวที่แยกกันอยู่คนละแห่ง แต่ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวแบบไหน หรือมีคนกี่ Gen เป็นสมาชิกครอบครัว ความแตกต่างระหว่างวัยด้วยมุมมองและประสบการณ์การใช้ชีวิตอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดช่องว่างในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงเรื่องของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่เพียงส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่รวมถึงความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่ทุกคนถูกคาดหวังให้ #อยู่บ้านเถอะนะ แต่ยังคงต้องเว้นระยะห่าง (Social Distancing) เพื่อลดความเสี่ยง

ยิ่งในเดือนแห่งครอบครัวที่วันหยุดยาวถูกยกเลิกพร้อมกับมีการรณรงค์ให้งดการไปเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่เพื่อลดความเสี่ยง หลายคนอาจจะรู้สึกเหมือนมีช่องว่างระหว่างกันในครอบครัวมากขึ้น และเป็นการยากที่จะแสดงความห่วงใยกันเหมือนเช่นเคย แต่หากนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย ก็จะสามารถกระชับความสัมพันธ์ครอบครัวเพื่อสร้างกำลังใจให้แก่กันได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะอยู่บ้านเดียวกันแต่ต้องห่างกัน หรืออยู่ห่างต่างที่กัน ซึ่งเทคโนโลยีที่ว่าไม่ได้จำกัดเฉพาะการสื่อสาร แต่แอปพลิเคชั่นที่ช่วยดูแลการใช้จ่ายและทำธุรกรรมทางการเงินในชีวิตประจำวันอย่างอีวอลเล็ท ก็สามารถเข้ามามีบทบาททั้งในด้านการมอบความสะดวกสบาย ซื้อหาความเพลิดเพลินคลายเครียดที่ออกไปไหนไม่ได้ รวมถึงการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันก็ได้ด้วยเช่นกัน เพราะหากนึกถึงกิจวัตรของครอบครัวทั่วไปในแต่ละวัน ก็คงไม่พ้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจับจ่าย ไม่ว่าจะเป็นซื้อของกิน หาของฝาก ของขวัญ ของใช้ โอนเงินค่าขนม ค่าใช้จ่ายประจำเดือน หรือจ่ายบิลค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ภายในบ้าน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การใช้เทคโนโลยีอย่างอีวอลเล็ท ที่ดูจะไม่เป็นปัญหาของคนรุ่นใหม่ แต่ในุมุมมองผู้ใหญ่วัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงวัยจำนวนมากยังมองว่าการใช้ช่องทางดิจิทัลชำระเงินอย่าง อีวอลเล็ท คือ “ยาขม” ด้วยความที่ไม่สันทัดการใช้เทคโนโลยียุคใหม่และยังคุ้นชินกับการใช้ “เงินสด” เป็นหลัก บวกกับความไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัย จึงคิดว่าสิ่งเหล่านี้มาทำให้ชีวิตวุ่นวายไปกว่าเดิม ซึ่งเรื่องนี้ก็ตรงกับผลสำรวจของ Visa Singapore ที่พบว่าผู้สูงอายุเพียง 30% เท่านั้นที่เคยใช้แอปพลิเคชั่นทางการเงินอย่าง Mobile Banking หรือ e-Wallet ข้อมูลที่ยิ่งน่าสนใจคือผู้สูงอายุเกือบทั้งหมดนี้เป็นเจ้าของบัตรเดบิต แต่ก็ยังเลือกจ่ายด้วยเงินสดเวลาชำระเงินอยู่ดี เพราะพวกเขามองว่าตนเองแก่เกินไปที่จะใช้งานสิ่งเหล่านี้ โดยกลัวว่าจะใส่รหัสผิดเพราะสายตาไม่ดี กลัวถูกโกง และมองว่าใช้งานยุ่งยาก แต่ในทางกลับกัน 76% ของผู้สูงอายุจะรู้สึกมั่นใจในการช้อปปิ้งและชำระเงินออนไลน์มากขึ้นทันที หากมีคนคอยแนะนำหรือมีการสอนให้ใช้งานจนสำเร็จ

ดังนั้น จะดีกว่าไหมหากคนรุ่นใหม่ที่อยู่บ้านว่างและเบื่อในช่วงนี้จะเอาฟีเจอร์หรือประโยชน์ของโลก Digital รวมถึงเรื่องของ Cashless มาช่วยกระชับความสัมพันธ์กับคนในบ้านให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และยกขึ้นมาเป็นหัวข้อพูดคุยกระชับสัมพันธ์ระหว่างกันในช่วงนี้ เพราะผู้ใหญ่และผู้สูงอายุหลายคนก็กำลังต้องการทางออกที่ช่วยให้ชีวิตพวกเขาสะดวกสบายและไม่ต้องออกนอกบ้านไปรับความเสี่ยงเช่นกัน แต่จะเริ่มต้นพูดคุยเรื่องเทคโนโลยีอย่างไรให้ผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุสนใจ เรื่องนี้ทรูมันนี่ ผู้ให้บริการด้านบริการอิเล็กทรอนิกส์เพย์เมนท์ชั้นนำ ที่ร่วมรณรงค์ให้คนไทย #อยู่บ้านเถอะนะ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีแนวทางง่าย ๆ มาแนะนำเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

ขั้นที่ 1: ควรเริ่มต้นด้วยการแนะนำง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนและบอกข้อดึของการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหา
เริ่มต้นจากการแนะนำให้รู้จักกับแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ รวมถึง e-Wallet พร้อมบอกว่าช่วยให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้นอย่างไร อาทิ พูดถึงการที่ไม่ต้องเสี่ยงออกไปชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน หรือมีแค่โทรศัพท์มือถือก็จ่ายค่าบริการเหล่านี้ได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทาง ขึ้นรถ ลงเรือไปถึงธนาคารหรือเคาท์เตอร์เซอร์วิสเพื่อต่อคิวรอจ่ายเงินให้วุ่นวาย อาจมีการแนบลิงก์สอนวิธีใช้งานและการดาวน์โหลด พร้อมโทรคุยบอกขั้นตอน หรือทำให้ดู เป็นต้น

ขั้นที่ 2: ทดลองใช้กับร้านค้าแถวบ้านก่อน หรือสั่ง delivery
จากนั้นก็ขยับมาเป็นการแสดงตัวอย่างการซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าต่าง ๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ฯลฯ ที่อยู่ใกล้บ้าน ซึ่งช่วงนี้หลายต่อหลายร้านรับซื้อผ่านออนไลน์และมาส่งถึงบ้าน เพื่อให้ผู้สูงวัยได้เรียนรู้และเข้าใจระบบการชำระเงินดิจิทัลว่าช่วยให้การใช้ชีวิตง่ายดายและรวดเร็วขึ้น แถมยังลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ในแบบแทนเงินสด ลดสัมผัส ได้ในช่วงนี้อีกด้วย

ขั้นที่ 3: โชว์ผลลัพธ์การใช้งานและความปลอดภัย
แก้ความกังวลเรื่องความปลอดภัยที่อาจมี โดยบอกช่องทางในการติดต่อกับผู้ให้บริการกรณีเกิดข้อสงสัยหรือปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการแชทผ่านในแอปฯ หรือเบอร์โทรคอลเซ็นเตอร์ พร้อมแสดงให้เห็นผลลัพธ์จากการใช้งานและขั้นตอนการตรวจสอบหลักฐาน ไม่ว่าหลังจากจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือค่าสาธารณูปโภคอื่น ๆ ภายในบ้าน ผ่านช่องทาง e-Wallet แล้วรับใบเสร็จ การตรวจสอบความถูกต้องและอีเมลยืนยัน ที่สำคัญ บอกให้ผู้สูงอายุระมัดระวังไม่ให้โอนเงินให้ใครหากไม่ได้โทรคุยยืนยันหรือเจอหน้ากันว่าใช่ตัวจริง และใช้เทคโนโลยีการยืนยันตัวตน (KYC) เพื่อสร้างความปลอดภัย ป้องกันบุคคลอื่นมาแอบอ้าง และยังอุ่นใจกับทุกการใช้จ่ายจะได้รับ SMS แจ้งเตือนทุกครั้งที่ทำธุรกรรม

ขั้นสุด: หมั่นให้กำลังใจและคอยประคับประคองอย่างต่อเนื่อง และหากิจกรรมทำร่วมกัน
ข้อนี้สำคัญมาก ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ความเคารพซึ่งกันและกัน และเคารพซึ่งความต่าง โดยใจเย็นและหมั่นให้กำลังใจระหว่างการเรียนรู้ และประคับประคองไปด้วยกันก็จะทำให้เกิดความใกล้ชิดกันมากขึ้น และเห็นการฝึกใช้เทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะเข้าถึงกิจกรรมสนุก ๆ ที่สมาชิกครอบครัวสามารถทำร่วมกันได้ อาทิ
เลือกรับความบันเทิงที่สนใจร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นหนัง ซีรีส์ สารคดี หรือเพลงเก่าต่าง ๆ ที่สามารถจัดหาได้อย่างง่ายดาย ทั้งจากบนแอปฯ ดูหนัง หรือแอปฯ ไลฟ์สตรีมมิ่งต่าง ๆ หรือการชวนชมพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ที่น่าสนใจ เป็นต้น
กิจกรรมออนไลน์ชวนสนุกแบบครอบครัว เนื่องจากเทคโนโลยีวันนี้นั้นเอื้อให้เราสามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างง่ายดาย ลองหากิจกรรมหรือเกมสร้างสรรค์สนุก ๆ ช่วยฝึกสมองแถมได้รับความเพลิดเพลินบนแพลตฟอร์มออนไลน์ส่งต่อให้ครอบครัว เช่น เกมทำอาหาร เกมแต่งบ้าน ทำสวน เลี้ยงสัตว์เลี้ยงดิจิทัล จับผิดภาพเหมือน เป็นต้น
ดูแลธุระและเรื่องค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้แก่กัน เช่น การผูกการจ่ายกับแอปฯ เดลิเวอรี่ต่าง ๆ เพื่อสั่งของกินของใช้ที่ขาดมาส่ง การช่วยชำระค่าสาธารณูปโภคของบ้าน หรือการช็อปปิ้งออนไลน์เพื่อค้นหาของขวัญของฝากไปส่งให้ญาติที่อยู่ห่างไกล เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ถึงเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยเติมเต็มความสะดวกสบายได้แค่ไหน แต่สุดท้ายการพูดคุยสื่อสารกันสม่ำเสมอ เพื่อแสดงออกถึงความรัก ความห่วงใยใส่ใจ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเสมอ ในเวลาที่ทุกคนจำเป็นต้องอยู่บ้านเช่นนี้ ก็สามารถหากิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อไม่ให้ความเบื่อหน่ายและเหินห่างเข้ามาครอบงำ และลองมองให้ลึกคุณจะเห็นถึงความห่วงใยที่พวกเขาส่งกลับมาให้โดยไม่คาดหวังให้คุณตอบกลับไปด้วยเช่นกัน โดยทรูมันนี่ ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ทุกครอบครัว #อยู่บ้านเถอะนะ แบบตัวห่างใจชิด ห่างไกลโควิด-19 ไปด้วยกันๅ

www.mitihoon.com