สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 6-10 เม.ย. 63

170

สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 610 เม.ย. 63 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 13-17 เม.ย. 63 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • วันที่ 12 เม.ย. 63 กลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) ร่วมกันลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วง พ.ค.- มิ.ย. 63 จากนั้นจะปรับลดปริมาณการผลิต 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. – ธ.ค. 63 และจะปรับลดปริมาณการผลิต 5.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ช่วงเดือน ม.ค. 64 ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 65 โดยซาอุดีอาระเบียและรัสเซียจะลดกำลังการผลิตประเทศละ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • บริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย (National Oil Corp. หรือ NOC.) ของลิเบียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ในวันที่ 5 เม.ย. 63 อยู่ที่ 90,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากนายพล Khalifa Haftar ผู้นำกลุ่ม LNA ปิดล้อมท่าส่งออกและแหล่งผลิต ตั้งแต่ปลาย ม.ค. 63 (ธ.ค. 62 ผลิตที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน)
  • Indian Strategic Petroleum Reserves Ltd. (ISPRL) ของอินเดีย มีแผนรับน้ำมันเข้าเก็บในคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserves – SPR) ประมาณ 19 ล้านบาร์เรลโดยเป็นการซื้อตรงจากผู้ผลิต อาทิ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตและโรงกลั่นภายในประเทศ ในช่วงที่ความต้องการใช้อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ SPR ของอินเดียมีความจุอยู่ที่ประมาณ 37 ล้านบาร์เรล
  • Energy Information Administration (EIA) ปรับลดประมาณการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปี พ.ศ. 2563 มาอยู่ที่ 11.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 12.99 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยยังมิได้ตั้งสมมติฐานว่าสหรัฐฯ จะร่วมมือกับผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกในการลดการผลิตน้ำมันดิบ ทั้งนี้ ด้วยปริมาณการผลิตที่ลดลงดังกล่าว ทำให้ EIA คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะกลับไปเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิในไตรมาสที่ 3/63 ล่าสุด EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 เม.ย. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 600,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 12.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 9 เม.ย. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 58 แท่น อยู่ที่ 504 แท่น ต่ำสุดตั้งแต่ ธ.ค. 59
  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยการปล่อย

สินเชื่อให้กับรัฐบาลท้องถิ่น และกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นระยะเวลาถึง 4 ปี ซึ่งนอกเหนือจากการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจแล้ว มาตรการของ Fed ยังรวมถึงโครงการประกันรายได้ของพนักงาน และมาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • นักวิเคราะห์ Rystad Energy เห็นว่าแม้กลุ่ม OPEC+ จะสามารถตกลงร่วมกันลดปริมาณการผลิตถึง 15 ล้านบาร์เรลต่อวัน อาจยังไม่เพียงพอกับอุปทานน้ำมัน ซึ่งคาดว่าจะล้นตลาดอยู่ที่ 23 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย. 63 ด้วยผลกระทบจากเชื้อ COVID-19
  • EIA รายงานปริมาณการใช้น้ำมันของโลกในไตรมาสที่ 1/63 ลดลงจากปีก่อน 5.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 94.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำมันในปี พ.ศ. 2563 จะลดลงจากปีก่อน 5.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 95.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี พ.ศ. 2564 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 101.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 15.2 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 484.4 ล้านบาร์เรล เป็นการเพิ่มขึ้นรายสัปดาห์สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 6.7% อยู่ที่ 75.6% ต่ำสุดตั้งแต่เดือน ก.ย. 51
  • ผลของราคาน้ำมันที่ตกต่ำอาจทำให้อุตสาหกรรมพลังงานในสหรัฐฯ ต้องประสบปัญหาอีกครั้ง ล่าสุด Reuters รายงาน JPMorgan Chase, Wells Fargo, Bank of America และ Citigroup ผู้ปล่อยกู้แก่ธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทอิสระเพื่อบริหารแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ของบริษัทลูกหนี้ซึ่งอาจล้มละลาย ทั้งนี้ Reuters ประเมินว่าธนาคารต่าง ๆ ได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มธุรกิจพลังงานของสหรัฐฯ รวมมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นหลังตลาดได้รับข่าวกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) ร่วมกันลดปริมาณการผลิตมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ปริมาณ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วง พ.ค.- มิ.ย. 63 หลังการประชุมเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 63 โดยเม็กซิโกร่วมลดปริมาณการผลิต 100,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตามสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ยังคงรุนแรง วันที่ 12 เม.ย. 63 ซาอุดีอาระเบียประกาศขยายเคอร์ฟิวในเมืองหลัก (24 ช.ม.) และทั่วประเทศ (เวลา 15.00 น.- 6.00 น.) ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 63 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด (เดิมกำหนดเป็นเวลา 3 สัปดาห์) หลังมีรายงานผู้ติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มกว่า 300 ราย/วัน โดยมีผู้ติดเชื้อรวม 4,462 ราย และเสียชีวิต 59 ราย สูงสุดในกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ส่วนในสหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อรวมกว่า 500,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 21,300 ราย ขณะที่อังกฤษมีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 10,000 ราย แม้นายกรัฐมนตรี นาย Boris Johnson จะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้แล้วก็ตาม ให้จับตา International Energy Agency (IEA) ที่แนะนำให้กลุ่มประเทศผู้นำเข้าน้ำมันซื้อน้ำมันเพื่อเก็บในคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ปริมาณรวมประมาณ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน อาจช่วยบรรเทาปัญหาอุปทานน้ำมันล้นตลาด โดยจะเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในรายงานประจำเดือนที่มีกำหนดตีพิมพ์วันที่ 15 เม.ย. 63  ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 29-36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 22-29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 22-29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจาก International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 เม.ย. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 53% รวมอยู่ที่ระดับ 2.23 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินลดลง ล่าสุด Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันเบนซินรายใหญ่ที่สุดในเอเชียประกาศเลื่อนการรับน้ำมันเบนซินที่จะส่งมอบในเดือน เม.ย. 63 ออกไป และโรงกลั่น Binh Son Refining and Petrochemical (กำลังการกลั่น 148,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ PetroVietnam ในเวียดนามเลื่อนการซ่อมบำรุงออกไปเป็นวันที่ 27 มิ.ย. 63 และจะกลับมาเดินเครื่องในวัน 17 ส.ค. 63 เพื่อรอชิ้นส่วนที่ใช้ในการซ่อมบำรุง ประกอบกับพนักงานถูกจำกัดการเดินทางจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 257.3 ล้านบาร์เรลสูงสุดในรอบ 1 เดือน  และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 320,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.42 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์   ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 18-25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจาก บริษัท Caltex Australia ประกาศปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Lytton (กำลังการกลั่น 110,000 บาร์เรลต่อวัน) ในมลรัฐ Queensland ประเทศออสเตรเลีย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2563 และจะกลับมาดำเนินการเมื่อค่าการกลั่นกระเตื้องขึ้น ประกอบกับ Platts คาดปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลจากจีน ในเดือน เม.ย. 63 จะลดลงจากปีก่อน  4.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 15 ล้านบาร์เรล เพราะโรงกลั่นลดปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซล ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 เม.ย. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 510,000 บาร์เรล อยู่ที่ 12.42 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 เม.ย. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน  500,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 122.7 ล้านบาร์เรลสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 35-42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

www.mitihoon.com