มิติหุ้น-ผศ.ดร. ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานผลการวิจัยเรื่องพฤติกรรมครอบครัวในสถานการณ์ COVID-19 ว่านับแต่มีการระบาดของโรค COVID-19 นี้ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวางจนประชาชนรับมือไม่ทัน แต่เมื่อภาครัฐและฝ่ายสาธารณสุขเสนอแนวทางปฏิบัติและออกมาตรการหลายๆ อย่างเพื่อหยุดยั้งต้นเหตุของการระบาดนี้ ประชาชนก็ตอบรับและตอบสนองได้ดี
งานวิจัยพบว่า สื่อที่ทรงพลังในการส่งต่อข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนในระดับประเทศที่ดีมากคือ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะโทรทัศน์มีผลต่อการรับรู้และการติดตามข่าวสารของประชาชนสูงมาก มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชนทั่วประเทศ ส่วนสื่อบุคคล เช่น บุคลากรสาธารณสุข ได้แก่ อสส. อสม. / เพื่อน / ญาติ / ครอบครัว และสื่อชุมชน เช่น หอกระจายข่าว มีผลต่อการรับรู้ เฝ้าระวังติดตามข่าวสารและทัศนคติต่อข่าวสารของประชาชนในเขตชนบทมากกว่าเขตเมือง แม้ประชาชนตื่นตัวเพื่อติดตามข่าวสารมาก และมีความเข้าใจเรื่องข้อมูลดีก็ตาม แต่ก็เฉพาะในประเด็นที่เผยแพร่เท่านั้น จากการสอบถามเรื่องการรับรู้จำนวนผู้ป่วย และข้อมูลการระบาดของ COVID-19 พบว่าประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ข่าวสารในภาพรวม แต่ไม่อาจระบุในระดับจังหวัดได้อย่างแม่นยำนัก เช่น จำนวนผู้เสียชีวิตหรือจำนวนผู้ติดเชื้อในจังหวัด เป็นต้น ภาพในใจของประชาชนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่รับรู้เกี่ยวกับความสูญเสีย ความเสียหายภาพใหญ่ๆ หรือเป็นภาพรวม เช่น เศรษฐกิจแย่ พัง จบช้า
ขณะเดียวกันในงานวิจัยยังพบอีกว่า ครัวเรือนของคนในเขตเมืองซึ่งมีฐานรายได้สูง และมีสัดส่วนความหนาแน่นของการอยู่อาศัยต่อพื้นที่ห้องน้อยกว่าคนจนเมืองหรือคนชนบท หรือคนชายแดนใต้ และขณะที่คนจนเมือง หรือคนชนบท และคนจังหวัดชายแดนใต้มักมีกิจกรรมที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ร่วมกันมากกว่าและจำเป็นกว่าคนเขตเมือง สังเกตุจากพื้นที่ของห้องนอน ห้องน้ำและโอกาสที่ต้องทำกิจกรรมการทำร่วมกันในพื้นที่แออัดก็บ่อยกว่า เช่น ตลาดสด บริการรถสาธารณะ ศาสนาสถาน เป็นต้น จึงปฏิบัติไม่ได้ หรือปฏิบัติไม่เข้มงวด เหมือนไม่ให้ความร่วมมือต่อข้อแนะนำของฝ่ายสาธารณสุข เช่น การหลีกเลี่ยงเข้าพื้นที่แออัด การล้างมือ การใช้หน้ากาก หรือการไม่ใช้มือจับใบหน้า
งานวิจัยยังพบอีกว่า ประเด็นของข่าวสารในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทำให้คนจนเมือง คนชนบท คนชายแดนใต้ ตระหนักถึงการระบาดว่าแม้จะรวดเร็ว รุนแรงแต่ก็เป็นสิ่งไกลจากตัว การไม่รู้จำนวนผู้ป่วยและการสูญเสียในระดับจังหวัดมากเท่าที่ควรจะรู้ มีผลให้การตื่นตัวลดลง ดังนั้น อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้แรงจูงใจที่จะให้ความร่วมมือกับมาตรการของรัฐและฝ่ายสาธารณสุขต่ำกว่าที่คาด หรือได้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างไรก็ตาม พบว่ากลไกการสื่อสารในระดับชุมชนครัวเรือนไทยนี้ สื่อบุคคล เช่น อสม. อสส. เพื่อน ญาติมิตร และสื่อชุมชน เช่น หอกระจายข่าว ยังมีอิทธิพลต่อการรับรู้และทัศนคติของคนเหล่านี้อยู่ โดยเฉพาะในถานการณ์ COVID-19 นี้ พ่อ แม่ และผู้มีความรู้ในครัวเรือนที่ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด มีอิทธิพลต่อการรับรู้ข่าวสาร และการให้ความร่วมมือต่อมาตรการของรัฐและฝ่ายสาธารณสุขมาก
งานวิจัยนี้จึงเสนอให้รัฐปรับเพิ่มช่องทางการสื่อสารในระดับจังหวัดให้มากขึ้น ปรับข้อมูลให้มีประเด็นและรายละเอียดของพื้นที่-จังหวัดมากขึ้น และเพื่อให้ครอบครัวหรือชุมชนตื่นตัวมากขึ้นและยอมรับกับมาตรการป้องกันของฝ่ายสาธารณสุขมากขึ้นกว่านี้ อาจต้องปรับใช้สื่อ เช่น สื่อบุคคล หอกระจายข่าว อสส. อสม. ให้สอดรับกับวิธีการและประเด็นข้อมูลในระดับจังหวัดใกล้ชิดขึ้น ก็จะทำให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายที่ใกล้ตัวมากขึ้น และมีผลต่อการจูงใจให้ประชาชนร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ของรัฐและฝ่ายสาธารณสุข มากขึ้น
www.mitihoon.com