สกสว. ใช้นวัตกรรมใหม่ วิเคราะห์ความร่วมมือของประชาชนต่อมาตรการของรัฐ

129

มิติหุ้น – สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ ผศ.ดร. ธานี ชัยวัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ จุฬา และคณะ ใช้นวัตกรรมใหม่วิจัยนโยบายสาธารณะและตรวจสอบความร่วมมือของประชาชนต่อมาตรการป้องกันต่างๆ ในช่วงการระบาดของ COViD-19 ด้วยหลัก “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม”
เผยพฤติกรรมคนไทย 4 กลุ่มที่ศึกษาแม้จะเผชิญปัญหาอย่างกระทันหันในช่วงการระบาดอย่างรวดเร็วของ COVID-19 แต่ก็ไม่สับสน ภาพรวมความร่วมมือและปฏิบัติตามนโยบายยังเป็นไปในทางเดียวกันทั้งประเทศ พร้อมยืนยันผลวิจัยบ่งชี้คนไทยเฝ้าระวังติดตามข่าวสาร มาตรการรัฐอย่างใกล้ชิด ให้ร่วมมือปฏิบัติตามอย่างดี แม้บางพื้นที่ตัวเลขเฉลี่ยของการปฏิบัติตามจะต่ำบ้างก็เพราะข้อข้ดข้องจากรูปแบบพฤติกรรมประจำวัน หากภาครัฐเข้าใจพฤติกรรมของคนแต่ละพื้นที่ ก็จะเข้าใจแรงจูงใจ ก็สามารถปรับเปลี่ยนมาตรการ หรือการสื่อสาร เพื่อกระตุ้นความร่วมมือได้มากกว่านี้
ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวิจัยได้เปิดเผยว่า “เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม” เป็นวิชาที่ใช้ศึกษาเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ กลไกทางเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับความคิดของมนุษย์ในเชิงจิตวิทยาและสังคมวิทยาและอธิบายด้วยแบบจำลองทางสถิติและคณิตศาสตร์ หรือกล่าวได้ว่าเป็นความพยายามที่จะใช้กระบวนการเหตุผลเพื่ออธิบายสิ่งที่เชื่อมโยงกันเหมือนไม่มีเหตุผล
มาตรการป้องกันการระบาดของ COVID-19 ซึ่งฝ่ายสาธารณสุขออกมาเป็นขั้นตอนโดยลำดับนั้น กระทบกับความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างรวดเร็วและรุนแรงหลายระดับโดยเฉพาะทางเศรษฐกิจ จึงมีข้อสงสัยและอยากรู้ว่า คนไทยเข้าใจมาตรการเหล่านี้หรือไม่ มีทัศนคติอย่างไร และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐมากน้อยแค่ไหน และมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ผศ.ดร. ธานี กล่าวว่าการใช้หลักวิชานี้ถือเป็นความพยายามที่จะเข้าใจการตื่นตัวของสังคมไทยในช่วงการระบาดของ COVID-19 นี้ให้ถูกต้อง ดังปรากฏการณ์ในสังคมหลายๆส่วนระหว่างที่ฝ่ายสาธารณสุขประกาศออกมาเป็นระยะ ซึ่งประชาชนบางส่วนให้ความร่วมมืออย่างดี แต่บางส่วนก็ยังไม่ดีและมีข้อติดขัด จนหลายคนอาจคิดว่าคนไทยเหล่านี้พูดไม่รู้เรื่อง ดื้อรั้น เช่น มาตรการการล้างมือ สวมหน้ากาก หรืออยู่บ้าน เว้นระยะห่าง เป็นต้น เหมือนคนไทยบางส่วนพูดยาก เข้าใจยาก ไม่ยอมทำ แต่เมื่อเราใช้หลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเข้าไปดู ไปจับแล้วก็พบว่า คนไทยทุกกล่มที่ศึกษา ตื่นตัว เฝ้าระวังติดตามข่าวสารการระบาดนี้สูงมาก แต่มาตรการบางข้อที่รับกำหนดนั้นไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตปะจำวัน แรงจูงใจให้ปฏิบัติตามจึงต่ำ หรือบางเรื่องรัฐสื่อสารให้เขาเหล่านั้นเข้าใจและเห็นความสำคัญได้แล้วก็จริง แต่ยังผิดช่องทาง ตัวอย่าง เช่น การติดเชื้อสูงในคนชายแดนใต้เพราะพฤติกรรมการใช้พื้นที่แออัดร่วมกันของเขามีสูง การควบคุมระยะห่างระหว่างบุคคลจึงได้ผลไม่เต็มที่ แต่ต้องคุมระยะในกิจกรรมระหว่างครัวเรือนไปพร้อมๆ กันด้วย อีกทั้งการสื่อสารข้อมูลผู้ป่วยในพื้นที่และรายจังหวัดมีน้อยและไม่ถูกเน้น แม้คนเหล่านี้จะรู้ว่าโรคระบาดนี้ติดต่อง่าย ติดเยอะ แต่ก็ยังเชื่อว่าไกลจากตัวเอง แรงจูงใจที่จะปฏิบัติตามจึงต่ำ
นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าพฤติกรรมของครัวเรือนไทยในเขตเมืองเป็นพฤติกรรมอิสระแต่คนจนเมือง คนชนบทและคนชายแดนใต้ เป็นพฤติกรรมร่วมกัน เช่น การใช้ห้องนอนรวมและใช้ห้องน้ำร่วมกัน ซึ่งมีผลต่อการติดเชื้อแตกต่างกัน คนในเขตเมืองแยกรับประทานอาหาร แต่คนจนเขตเมือง คนชนบท มักกินรวมกัน และคนชายแดนภาคใต้มักต้องออกไปทำกิจกรรมทางศาสนา พฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้มาตรการ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ นั้น ได้รับความร่วมมือไม่เต็มที่
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมความเชื่อมั่นว่าฝ่ายสาธารสุขจะช่วยหยุดการระบาดได้นี้ยังสูงมาก และพร้อมจะทำตาม ทั้งยังเชื่อว่าตนเองทำได้ดีเหมือนๆ กัน แต่ก็พบว่าเป็นการร่วมมือที่มีเงื่อนไขว่าจะทำตามกลุ่มของตน หากชุมชนหรือสังคมที่อยู่ร่วมกันไม่ทำแล้วโอกาสที่ตนเองจะทำก็ยาก ดังนั้น การกระตุ้นความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการจึงต้องทำทั้งระดับบุคคล และชุมชนไปพร้อมกัน
ผศ.ดร. ธานี กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า งานวิจัยนี้ช่วยยืนยันให้เห็นว่ามาตรการของรัฐและข้อแนะนำของฝ่ายสาธารณสุขนั้นมีผลกระทบต่อประชาชนในทุกระดับแตกต่างกัน และผลตอบรับจากประชาชนร้อยละ 90 เข้าใจและยินดีปฏิบัติตาม ส่วนที่ยังไม่ปฏิบัตินั้นก็เพราะมีข้อจำกัด ซึ่งแก้ไขได้ถ้าเข้าใจพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของคนเหล่านั้นแล้วก็จะเข้าใจความคิด แรงจูงใจและการตอบสนองของประชาชนเหล่านั้น รัฐก็สามารถออกมาตรการเสริมหรือปรับวิธีการ ให้เหมาะสมได้และจะทำให้ความร่วมมือของประชาชนแต่มาตรการของรัฐนี้ ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยยิ่งขึ้น

www.mitihoon.com