มิติหุ้น – การสำรวจพบคนส่วนมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพร้อมใช้งานธนาคารดิจิทัล โดยลูกค้ากว่า 3 ใน 5 (63%) พร้อมเปลี่ยนไปใช้บริการของผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่และธนาคารผู้ท้าชิงรายใหม่ๆ (Neobank และ Challenger bank) ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยจะมีผู้เล่นใหม่เกิดขึ้นกว่า 100 รายในภูมิภาคนี้ ตามรายงาน Fintech and Digital Banking 2025[1] ของ Backbase และ IDC
การแพร่ระบาดของไวรัสอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนได้นำมาสู่การทบทวนความพร้อมในแวดวงธนาคารดิจิทัล ซึ่งลูกค้าธนาคารในเอเชียแปซิฟิกส่วนใหญ่ (70%) มองว่าขั้นตอนต่างๆ ในการทำธุรกรรมธนาคารยังคงซ้ำซาก โดยผู้ให้บริการธนาคารรายเดิมยังยึดติดระบบเก่า (Legacy system) และไม่สนใจบูรณาการเพื่อมุ่งให้บริการด้วยดิจิทัลเป็นสิ่งแรก (Digital-first) ทำให้มีเพียงแค่ 30% ของลูกค้าในภูมิภาคนี้ที่ใช้งานธนาคารผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นประจำ แต่ทุกวันนี้ผู้ให้บริการธนาคารรายเดิมต้องเผชิญกับความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อหันมาเน้นการให้บริการทางดิจิทัลเป็นสิ่งแรก จากความต้องการของลูกค้าที่สูงขึ้นด้านความพร้อมใช้งาน การเข้าถึง และการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล โดยธนาคารต่างๆ ในประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมย้ายการประมวลผลกว่า 50% ขึ้นสู่ระบบคลาวด์สาธารณะภายในอีก 5 ปีข้างหน้าเพื่อตอบรับความต้องการใช้งานดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น
ความคล่องตัวเป็นเรื่องสำคัญเพื่อแข่งขันมุ่งสู่ Digital-First
รายงานพบว่าผู้ให้บริการธนาคารรายเดิมๆ ไม่สามารถสร้างประโยชน์และดึงศักยภาพจากการสร้างพันธมิตรในระบบนิเวศได้เนื่องจากยังคงมีมุมมองแบบเก่าต่อห่วงโซ่คุณค่า โดยร้อยละ 80 ของธนาคารชั้นนำ 250 แห่งในเอเชียแปซิฟิกยังคงต้องการเป็นเจ้าของห่วงโซ่คุณค่าของการธนาคารทั้งหมด และมีสัดส่วนของธุรกิจจากผู้ใช้บริการภายนอก (Third party) เพียง 2% ในขณะเดียวกันอายุเฉลี่ยของระบบธนาคารหลักที่ตกทอดมา (Legacy core banking system) ของธนาคาร 100 อันดับแรกในภูมิภาคอยู่ที่ 17.5 ปี ซึ่งนับว่าล้าหลังจากเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ให้บริการธนาคารรูปแบบใหม่และผู้ท้าชิงดิจิทัลกว่า 35 รายทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ก่อตั้งขึ้นด้วยแนวปฏิบัติที่ส่งเสริมนวัตกรรมและความคล่องตัว และได้เปรียบเหนือผู้เล่นรายเดิมอย่างมากในแง่ของความยืดหยุ่น การตอบสนองความต้องการของลูกค้า การออกแบบบริการให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมด้วยตนเอง รวมถึงการออกแบบบริการเฉพาะสำหรับบุคคล ดังนั้นการเกิดขึ้นของผู้เล่นรายใหม่และดิจิทัลดิสรัปชันที่สูงขึ้นในอุตสาหกรรมจะส่งผลกระทบด้านความเสี่ยงต่อรายได้ของผู้ให้บริการธนาคารแบบดั้งเดิมถึง 38% ภายในปีพ.ศ. 2568
สำหรับประเทศไทย ภายใน 5 ปีข้างหน้า 7% ของมูลค่าธุรกิจสำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยของธนาคารชั้นนำในไทยจะดำเนินการโดยพันธมิตรของธนาคาร เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีน้อยกว่า 2% และมีธนาคารไทยหลายแห่งกำลังหาพันธมิตรเพื่อสร้างบริการที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ โดยหวังจะสร้างคุณค่าจากจำนวนผู้ใช้งานในระบบนิเวศที่สูงขึ้น (Network effect) เพื่อเร่งเติบโตอย่างรวดเร็วผ่านเครือข่ายเปิดและการผลักดันความร่วมมือโดยใช้ API
การลงทุนเชิงกลยุทธ์และลำดับสำคัญของการเติบโตในปี 2568
ในขณะที่อุตสาหกรรมธนาคารกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการมุ่งสู่การเป็นดิจิทัลเป็นสิ่งแรกนั้น รายงานพบว่าธนาคารในเอเชียแปซิฟิกจะต้องนำศักยภาพของการออกแบบบริการส่วนบุคคลมาปรับใช้ในระดับที่กว้างขึ้น มุ่งตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น และเน้นความสำคัญของแพลตฟอร์มมากขึ้น
จุดสนใจหลักจะอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลและการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้งาน โดยภายในปีพ.ศ. 2568 ร้อยละ 44 ของธนาคารชั้นนำ 250 แห่งทั่วภูมิภาคจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ระบบหลักที่เชื่อมต่อกัน” (Connected core) เป็นผลสำเร็จ และจะทำงานอยู่บนระบบแพลตฟอร์มและองค์ประกอบที่ทันสมัย พร้อมทั้งเปิดใช้งาน API ได้ และธนาคารกว่าร้อยละ 48 ในเอเชียแปซิฟิกยังคาดว่าจะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI หรือการเรียนรู้ของระบบ (Machine Learning หรือ ML) เพื่อใช้ประมวลข้อมูลและขับเคลื่อนการตัดสินใจต่างๆ ได้อีกด้วย
การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลสร้างประโยชน์มากมายแก่ระบบหลักของธนาคาร เช่น การส่งมอบผลิตภัณฑ์ บริการ และให้ข้อมูลอย่างฉับพลันแก่ลูกค้าธนาคารรายย่อยเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถใช้กระบวนการอัตโนมัติเพื่อลดต้นทุนการดำเนินการและให้บริการลูกค้าองค์กรได้ดีขึ้น ท้ายที่สุดเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของระบบ (AI และ ML) จะสามารถนำความเฉลียวฉลาดมาใช้ในการตัดสินใจต่างๆ เพื่อบริหารความมั่งคั่งและเพิ่มประสิทธิภาพได้ โดยธนาคารรายใหญ่ 8 แห่งในไทยกำลังเล็งเพิ่มการลงทุน 50% เพื่อขยายสู่ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง
นายฤทธี ดัตตา ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของ Backbase กล่าวว่า “ไทยมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการธนาคารยุคใหม่เนื่องจากธนาคารและบริษัทฟินเทคในประเทศมีความสามารถทางดิจิทัลที่พร้อมทำซ้ำและขยายธุรกิจได้ (Repeatable & Scalable) ในขณะเดียวกันคนไทยก็เปิดรับเทคโนโลยีทั้งการชำระเงินและการยืนยันตัวตนผ่านดิจิทัล หรือการผนวกโซเชียลมีเดียเข้ากับธุรกรรมต่างๆ ที่เติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ การบูรณาการธนาคารผ่านกลยุทธ์ที่เน้นดิจิทัลเป็นสิ่งแรก (Digital-first) เข้ากับสถาปัตยกรรมระบบสมัยใหม่ที่พัฒนาอย่างแยกส่วน (Modular) ประกอบกับความร่วมมือกับบริษัทฟินเทคต่างๆ จะทำให้ธนาคารสามารถเสนอบริการที่แตกต่างและตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างไม่มีใครเหมือน”
นายไมเคิล อาราเนตา รองประธานบริษัท IDC Financial Insights เอเชียแปซิฟิก กล่าวเสริมว่า “การมุ่งเน้นดิจิทัลเป็นสิ่งแรก จำเป็นต้องผสานเทคโนโลยีเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในทุกขั้นตอนของธุรกิจ กลยุทธ์การมีส่วนร่วม ช่องทางต่างๆ ตลอดจนรูปแบบธุรกิจของธนาคาร ข้อมูลเชิงลึกในรายงานฉบับนี้จะช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่ธนาคารและผู้เล่นรายใหม่สำหรับอนาคต”
www.mitihoon.com