ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังอุปสงค์เริ่มฟื้นและกลุ่มโอเปกพลัสเริ่มลดกำลังการผลิต

168

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 22-27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 27-32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 11 พฤษภาคม 2563

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (11 – 15 พ.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายรัฐในสหรัฐฯ ได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและเปิดเศรษฐกิจบางส่วน รวมถึงประเทศในยุโรป เช่น อิตาลี เยอรมนีและสเปน ได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองที่เคยบังคับใช้อย่างเข้มงวดในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้ง ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการเริ่มปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและพันธมิตรที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. – มิ.ย. 63 รวมถึงการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ แคนาดาและนอร์เวย์ ที่อาจช่วยระบายน้ำมันดิบออกจากตลาดในปริมาณ 13 – 15 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ราคาน้ำมันดิบอาจได้รับปัจจัยบวกจากความต้องการใช้น้ำมันที่ฟื้นตัว หลังหลายประเทศทั่วโลก เช่น เยอรมนี อิตาลี สเปน ไนจีเรีย อินเดียและบางรัฐในสหรัฐฯ เริ่มเปิดเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปและให้ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม บางประเทศยังคงมีความกังวลว่าอาจเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอก 2 หลังจากที่ได้มีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง
  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรเริ่มปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบตามข้อตกลงที่ระดับ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยซาอุดิอาระเบียที่ปรับลดกำลังการผลิตกว่า 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ส่งออกต่ำที่สุดในรอบสิบปี) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 63 ที่ผ่านมา
  • ซาอุดิอาระเบียประกาศปรับราคา Official Selling Price (OSP) ของเดือน มิ.ย. 63 ที่ขายมายังเอเชียเพิ่มขึ้น 4 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ -5.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งสะท้อนภาพรวมของตลาดที่อาจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังซาอุดิอาระเบียประกาศยุติสงครามราคาน้ำมันและเริ่มปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบตามข้อตกลงในเดือน พ.ค. 63
  • กระทรวงพลังงานของนอร์เวย์เปิดเผยว่าจะปรับลดการผลิตน้ำมันลง 250,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน มิ.ย. 63 หรือมากกว่า 13% ของการผลิตทั้งหมดราว 86 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะลดการผลิตลง 134,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งเป็นการลดการผลิตน้ำมันครั้งแรกในรอบ 18 ปี
  • เบเกอร์ ฮิวจ์ รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่มีการใช้งานทั้งหมดในสหรัฐฯ ลดลง 57 แท่น สู่ระดับ 408 แท่น ในสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 1 พ.ค. 63 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 59
  • สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เผยตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 532.2 ล้านบาร์เรล ในรอบสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 1 พ.ค. 63 ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 67 ล้านบาร์เรล
  • ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีแนวโน้มกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่ เพื่อตอบโต้จีนจากกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน เดือน เม.ย. 63 ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 63 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในทวีปยุโรป เดือน เม.ย. 63

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 – 8 พ.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 5.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 24.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 5.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 30.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 26.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศทั่วโลก อาทิ อิตาลี ฟินแลนด์ และสหรัฐฯ เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ชะลอตัวลง ประกอบกับมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ของกลุ่มโอเปกและพันธมิตรที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา

www.mitihoon.com