EA ร่วมมือใช้เทคโนโลยีฝ่าวิกฤติโควิด-19 จัดงบ 250 ลบ. เพิ่มศักยภาพบุคลากรการแพทย์

95

มิติหุ้น – “สมโภชน์ อาหุนัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA ทำหนังสือตอบนายกฯ พร้อมร่วมมือระดับชาติฝ่าวิกฤติโควิด-19 ด้วยพลังสมองและเทคโนโลยี ดึงพันธมิตรตั้ง”กลุ่มช่วยกัน” ลุยติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ และ เพิ่มความปลอดภัยจากโรคให้กับประชาชนโดยใช้งบประมาณรวม 250 ล้านบาท พร้อมทั้งเสนอภาครัฐช่วยสนับสนุนให้ประชาชนดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” บนมือถือ เพื่อเป็นเครื่องมือชี้วัดความเสี่ยงและคัดกรองเพิ่มเติมโดยการแสดง QR Code ในโทรศัพท์มือถือที่ใช้พกพาประจำตัวเปรียบเสมือน eHealth Passport หรือ COVID VISA ใช้แสดงหรือตรวจสอบก่อนเข้าไปยังสถานที่ต่างๆ

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า ได้รับเกียรติอย่างสูงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กรุณามีหนังสือสอบถามพร้อมกับเปิดโอกาสให้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลได้ จึงได้ทำหนังสือตอบ เรียบร้อยแล้ว ด้วยความรู้สึกชื่นชมในความเสียสละ ทุ่มเทของท่านนายกรัฐมนตรี คณะรัฐบาล บุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน และทีมงานที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ในภารกิจการนำพาประเทศไทยให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤติในครั้งนี้และมีพัฒนาการที่ดีอย่างยิ่งมาเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปตามที่องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า สถานการณ์โควิด-19 จะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาวิธีที่จะสามารถดำเนินชีวิตประจำวันและประกอบอาชีพได้อย่างปลอดภัย เพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้น้อยที่สุด จนกว่าจะมีวัคซีนและยารักษาโรค

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ EA จึงได้ตั้ง “กลุ่มช่วยกัน” ขึ้น เพื่อดำเนินการโครงการต่างๆ โดยมุ่งเน้นการใช้พลังสมอง ประสบการณ์ ความรู้ความสามารถโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ออกแบบให้เหมาะสม แล้วนำมาปรับใช้กับประเทศไทยอย่างได้ผล ด้วยงบประมาณที่ไม่สูง แต่ได้ประสิทธิผลในวงกว้าง โดยมีโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ รวมถึงแผนงานในอนาคตดังนี้

“ผมคิดว่าหากเรามองวิกฤติให้เป็นโอกาส วิกฤติครั้งนี้ก็อาจเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยของเราจะสามารถเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือด้านสาธารณสุขสำหรับใช้ในประเทศ สิ่งที่ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ได้ออกแบบและพัฒนาขึ้นมานั้น ผมยินดีเป็นอย่างยิ่ง หากผู้ใดสนใจนำไปพัฒนาต่อยอด และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนได้ หากทุกฝ่ายร่วมมือกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไว้ได้ ผมมั่นใจว่า เราจะสามารถตอกย้ำความเข้มแข็งด้านการแพทย์ให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับสากลได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมการแพทย์ได้อย่างน่าสนใจ”

นายสมโภชน์กล่าวอีกว่า นอกจากการเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงานให้บุคลากรทางการแพทย์และเพิ่มศักยภาพในการป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสให้กับประชาชนแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปคือ การหาจุดสมดุลใหม่ของการระงับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และการคืนการใช้ชีวิตของคนในสังคม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กลับสู่สภาวะปกติให้มากที่สุด แต่ก็ยังคงต้องป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดประเทศ

จากการระดมสมองร่วมกับหน่วยงานหลายฝ่ายรวมถึง “กลุ่มช่วยกัน” กลุ่ม Code for Public, Blockfint และกลุ่มผู้พัฒนาซอฟท์แวร์อิสระที่มีความเชี่ยวชาญ จึงได้ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “หมอชนะ” โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิตอล (สพร.) กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล (DEPA) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัทเอกชนอีกหลายแห่ง

โดย “หมอชนะ” เป็นเพียงแอปพลิเคชันเดียวที่ถูกออกแบบมา เพื่อช่วยในการเปิดเมือง ทำให้ผู้ใช้ได้ทราบความเสี่ยงของตนเองจากกิจกรรมและบุคคลที่ตนเองได้ใกล้ชิดในช่วงเวลา 14 วันที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดเด่นจากการนำ Bluetooth มาทำงานร่วมกับ GPS ทำให้สามารถติดตามได้ว่าผู้ใช้ได้เคยใกล้ชิดผู้ป่วยหรือได้เดินทางไปยังสถานที่ ที่มีความเสี่ยงและใกล้ชิดกับ ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในระยะรัศมี 5 เมตร จึงทำให้สามารถคัดแยกผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อในวงที่แคบลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ และควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กำลังจะเปิดเมือง จำเป็นต้องมีการผลักดันและเชิญชวนให้ประชาชนใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ให้มีจำนวนมากเพียงพอ เพื่อให้แอปพลิเคชันมีข้อมูลที่จะเตือนผู้ใช้แอปพลิเคชันและสังคมได้อย่างแม่นยำ จึงได้เสนอแนะให้ท่านนายกรัฐมนตรี พิจารณาออกมาตรการที่จูงใจอย่างเร่งด่วน เพื่อเชิญชวนให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่อนำไปใช้เป็นมาตรการชี้วัดความเสี่ยงและคัดกรองเพิ่มเติมโดยการแสดง QR Code ในโทรศัพท์มือถือที่ใช้พกพาประจำตัวโดยเรียกว่า eHealth Passport หรือ COVID VISA ก่อนเข้าไปยังสถานที่ราชการ สถานประกอบการ สถานศึกษา โรงพยาบาล ยานพาหนะในระบบขนส่งสาธารณะ ร้านค้า และสถานที่ชุมชนต่าง ๆ โดยยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด

www.mitihoon.com