มิติหุ้น-นายทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลประกอบการไตรมาส 1/2563 ว่า “แม้ว่าภาพรวมรายได้ของบริษัทจะปรับตัวลดลงเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก แต่ผลประกอบการของบริษัทยังคงสามารถทำกำไรได้ แม้ว่าจะมีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2563 จำนวน 22.5 ล้านบาท ลดลง 20.3 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 47.4 จากไตรมาส 1/2562 ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัจจัยภายนอกทั้งสภาพเศรษฐกิจและวิกฤติ COVID-19 นอกจากนี้ ในไตรมาส 1/2563 บริษัทยังได้รับผลกระทบจากการบันทึกตามมาตรฐานบัญชีใหม่ อีกทั้งธุรกิจขายระวางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางอากาศของบริษัท ได้เปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานเป็นการดำเนินงานผ่านทางบริษัท เทเลพอร์ต (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทการร่วมค้าระหว่างบริษัท กับบริษัท Teleport Everywhere Pte., Ltd. ในกลุ่ม AirAsia จึงทำให้บริษัทไม่ได้มีการบันทึกรายได้ในส่วนของเทเลพอร์ต (ประเทศไทย) จากการขายระวางขนส่งสินค้า แต่เป็นการรับรู้ผลประกอบการในลักษณะของส่วนแบ่งกำไรแทน
ซึ่งส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าในไตรมาส 1/2563 จำนวน 23.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 46.5 ตอบรับกับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ขยายธุรกิจไปสู่ภูมิภาค แม้ว่าธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศบางส่วนเริ่มได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในขณะที่ธุรกิจของ DG Packaging Pte., Ltd. ในประเทศสิงคโปร์ กลับมีปริมาณการขายบรรจุภัณฑ์และการขนส่งสำหรับสินค้าอันตรายและเคมีภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการป้องกันเชื้อโรค และยังสามารถเพิ่มรายได้จากการให้บริการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในสำนักงานให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งสามารถสร้างผลประกอบการเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี บริษัทคาดว่าไตรมาสที่ 2/2563 ธุรกิจจะยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก และจากแนวโน้มปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทางบริษัทจึงมีการปรับแผนการดำเนินธุรกิจในเชิงรับมาตั้งแต่ในไตรมาสแรกของปี ได้แก่ การบริหารจัดการต้นทุนซึ่งจะส่งผลอย่างชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 2/2563 รวมถึงการหันมาให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศในรูปแบบการเช่าเหมาลำ (Chartered Flight) และการพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ภายในประเทศมากขึ้นเพื่อทดแทนการหยุดให้บริการของสายการบินต่างๆ
นอกจากนี้ บริษัทยังเร่งพัฒนาแผนธุรกิจเชิงรุกด้านการพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต และยังมีการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโมเดลและแพลทฟอร์มการให้บริการด้านโลจิสติกส์ใหม่ๆ ร่วมกับพันธมิตร เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความต้องการด้านโลจิสติกส์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นภายหลังวิกฤตโรคระบาด ซึ่งการปรับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทนั้น ครอบคลุมทั้งกลุ่มธุรกิจหลัก 4 กลุ่ม และกลุ่มธุรกิจ Business Development”
ในส่วนของกลุ่มธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ บริษัทฯ และ บจก. เทเลพอร์ต (ประเทศไทย) ได้มีการปรับรูปแบบการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศมาเป็นบริการเช่าเหมาลำโดยเฉพาะ โดยเลือกเส้นทางที่ยังทำกำไรได้ โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมาเริ่มให้บริการขนส่งสินค้าแบบเช่าเหมาลำไปยังหลายประเทศในแถบเอเชีย
กลุ่มธุรกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลและทางบก ภายหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายการเดินเรือ Rizhao Port Shipping Line ที่บริษัทเป็นตัวแทนได้หยุดให้บริการตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทจึงเพิ่มสัดส่วนการให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนทางบกมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาขนส่งสินค้าทางบกในรูปแบบอื่นอีกด้วย
สำหรับกลุ่มธุรกิจบริหารจัดการโลจิสติกส์และกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์สำหรับสินค้าอันตรายและเคมีภัณฑ์ ได้มีการบริหารจัดการด้านต้นทุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายคงที่ และบริหารจัดการต้นทุนขายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยบริษัทเริ่มมีการพัฒนาโครงการขนส่งสินค้าแบบ Multimodal เช่น การขนส่งสินค้าทางทะเลจากประเทศจีนผ่านประเทศไทยเพื่อส่งต่อสินค้าไปยังประเทศลาวโดยการใช้รถขนส่งสินค้าข้ามแดน รวมทั้งมีการขยายฐานลูกค้าที่เป็น B2B มากขึ้นเพื่อชดเชยลูกค้ากลุ่ม Retail ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดห้างร้าน Modern Trade ต่าง ๆ
นอกจากการพัฒนาธุรกิจหลักทั้ง 4 กลุ่มแล้วนั้น บริษัทยังมีแผนการพัฒนาธุรกิจใหม่ในกลุ่มธุรกิจ Business Development ที่มุ่งเน้นการขยายแหล่งรายได้จากธุรกิจรูปแบบใหม่มากยิ่งขึ้น ประกอบกับการปิดประเทศทั่วโลกจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการขนส่งสินค้าระหว่างภูมิภาค ทำให้การค้าระหว่างประเทศภายในภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทางบริษัทจึงให้ความสำคัญกับการให้บริการด้านโลจิสติกส์ภายในภูมิภาคและภายในประเทศมากยิ่งขึ้น ภายใต้ 3 แนวทางหลัก ดังนี้
- การต่อยอดขยายธุรกิจร่วมกับพันธมิตรร่วมค้า : ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ บริษัทรวมกับ เทเลพอร์ต (ประเทศไทย) เตรียมปรับรูปแบบการให้บริการขนส่งสินค้าเป็นการขนส่งสินค้าแบบ Cargo Flight โดยจะกำหนดตารางการบินในการขนส่งสินค้าทางอากาศให้มีความสม่ำเสมอและชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อทดแทนการหยุดให้บริการของสายการบินทั่วโลก นอกจากนี้ บริษัทยังร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจระดับภูมิภาคที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเตรียมให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศแบบด่วนพิเศษภายในภูมิภาคสำหรับกลุ่มลูกค้า B2B และยังพัฒนาการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศภายในประเทศแบบด่วนพิเศษอีกด้วย
- การขยายขอบเขตการให้บริการโลจิสติกส์ : บริษัทจะขยายธุรกิจในภาคพื้นอากาศยานภายในประเทศและผู้โดยสาร ซึ่งปัจจุบันให้บริการที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และเตรียมขยายการให้บริการในท่าอากาศยานระหว่างประเทศอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ช่วงต้นไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยคาดว่าจะเป็นช่วงที่มีปริมาณการใช้บริการภาคพื้นอากาศยานและผู้โดยสารจะกลับมาเป็นปกติภายหลังจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย บริษัทยังเตรียมพร้อมในการให้บริการศูนย์ขนส่งสินค้า Express Center ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งคาดว่าเริ่มให้บริการได้ในไตรมาส 4 เช่นกัน ปัจจุบัน บริษัทกำลังศึกษาแผนการร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ เพื่อพัฒนาบริการด้านโลจิสติกส์ในลักษณะ Project Cargo Handling & Cross Border รวมทั้งการให้บริการด้านการขนส่งทางบกในระบบราง เพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับกลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลและทางบก
- การพัฒนารูปแบบบริการด้านโลจิสติกส์ด้วย Digital Platform : บริษัทเตรียมจัดทำ Fulfillment Center สำหรับกลุ่มสินค้าที่เป็นอาหารสดที่ใช้ช่องทางการค้าในลักษณะ Online โดยอาศัยจุดแข็งของพันธมิตรที่มีความชำนาญในการสร้างแพลทฟอร์มสำหรับธุรกิจ E-Commerce และ E-Logistics อีกทั้งยังมีการร่วมกับพันธมิตรเพื่อพัฒนา E-Commerce Platform ต่อยอดกับธุรกิจโลจิสติกส์ของบริษัทที่มีอยู่ในปัจจุบัน
จากการปรับแผนการดำเนินธุรกิจทั้งในเชิงรุกและเชิงรับดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะยังสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่ายังมีปัจจัยลบจากภายนอก
www.mitihoon.com