RATCH มั่นใจธุรกิจไฟฟ้าเติบโตต่อเนื่องหลังวิกฤติโควิด-19 เดินหน้าเจรจาปิดดีลโรงไฟฟ้าต่างประเทศปีนี้

334

มิติหุ้น – RATCH เดินหน้าสร้างการเติบโตธุรกิจไฟฟ้า รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นจากวิถีปกติใหม่ในทุกภูมิภาคของโลก ซึ่งทุกกิจกรรมจะต้องใช้ไฟฟ้าเป็นปัจจัยพื้นฐาน ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจาร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าหลายแห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมประมาณ 800 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปข้อตกลงในปีนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ประสบความสำเร็จร่วมทุนในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ประเภทโคเจนเนอเรชั่น 2 แห่งในประเทศไทย มูลค่าการลงทุนส่วนทุนรวม 888 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทฯ จะต่อยอดการลงทุนพัฒนาโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับวิถีชีวิตปกติใหม่จากธุรกิจที่ลงทุนแล้ว ได้แก่ โครงข่าย Internet of Things (IoT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลหลังวิกฤติโควิด-19

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 บริษัทฯ มีกำไรก่อนรับรู้ผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 1,983.85 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.5 จากไตรมาสที่ 1 ปี 2562 และเมื่อรับรู้การขาดทุนทางบัญชีอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทฯ มีกำไร 1,360.82 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21.8 จากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจผลิตไฟฟ้าให้บรรลุเป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566 เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น อีกทั้งจะมีการพัฒนาคิดค้นนวัตกรรม และนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจและการดำเนินชีวิตรองรับวิถีปกติใหม่หลังจากนี้ เพื่อให้เกิดการรักษาระยะห่างทางสังคมลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“จากวิกฤติโควิด-19 บริษัทฯ มองเป็นทั้งความเสี่ยงและโอกาส จึงได้เพิ่มน้ำหนักในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากโรคระบาด รวมทั้งการจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และสังคม สำหรับโอกาสนั้น เรามองเห็นศักยภาพในการลงทุนพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ธุรกิจสีเขียว โครงการ Independent Power Supply (IPS) เพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต การต่อยอดธุรกิจจากโครงข่าย IoT เพื่อตอบสนองภาคธุรกิจและผู้บริโภค การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รวมถึงการลงทุนพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์วิถีปกติใหม่ของธุรกิจและสังคมร่วมกับกลุ่ม กฟผ.

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ใช้โอกาสจากการทำงานทางไกล ยกระดับศักยภาพขององค์กรเพื่อปรับรูปแบบการทำงานให้เป็น Smart Workplace ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ทำงานเชื่อมต่อกันภายในและซัพพลายเชน นำระบบแอพพลิเคชั่นที่รองรับการทำงานของพนักงานแต่ละวัย สิ่งที่ตามมาคือรูปแบบการทำงานแบบบุคคลที่เปลี่ยนไปสู่การทำงานเป็นทีมดิจิทัล ซึ่งทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น ทั้งยังลดการใช้ทรัพยากรและต้นทุนการดำเนินธุรกิจด้วย” นายกิจจา กล่าวปิดท้าย

ผลการดำเนินไตรมาสที่ 1 ปี 2563 รายได้จากส่วนแบ่งกำไรกิจการร่วมทุนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีสัดส่วนร้อยละ 32.9 ของรายได้รวม ปัจจัยสำคัญมาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาที่มีการเดินเครื่องเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงโรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียนเซน้ำน้อย และโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ที่จะเริ่มรับรู้รายได้เต็มปีในปีนี้

สำหรับรายได้รวม มีจำนวน 4,506.78 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากการขายและบริการและรายได้ตามสัญญาเช่าการเงินของโรงไฟฟ้าที่บริษัทฯ ควบคุมจำนวน 2,925.01 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.9 ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนจำนวน 1,480.64 ล้านบาท และรายได้จากดอกเบี้ยและอื่นๆ จำนวน 101.13 ล้านบาท

ฐานะการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 103,448.31 ล้านบาท หนี้สินจำนวน 44,440.97 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 59,007.34 ล้านบาท ศักยภาพทางการเงินของบริษัทฯ ในการจัดหาเงินเพื่อขยายการลงทุนให้บรรลุเป้าหมาย 10,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2566 สะท้อนจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน 0.46 เท่า อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (DSCR) 7.73 เท่า และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น 10.66%

www.mitihoon.com