มิติหุ้น –TTA รายงานผลดำเนินงานไตรมาสที่ 1/2563
- กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) เฉลี่ยสูงกว่าอัตราค่าระวางเรือ ซุปราแมกซ์สุทธิเฉลี่ยถึงร้อยละ 25
- กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งมีมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบแข็งแกร่งอยู่ที่ 193 ล้านเหรียญสหรัฐ
- TTA รายงานผลขาดทุนสุทธิที่ 459.2 ล้านบาท เป็นผลจากช่วงวัฏจักรธุรกิจที่อ่อนตัวและ การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19)
- อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (net IBD/E) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.09 เท่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2563 สะท้อนโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง
บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) รายงานรายได้รวมในไตรมาสที่ 1/2563 จำนวน 3,295.8 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 21 จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีผลขาดทุนสุทธิในไตรมาสที่ 1/2563 จำนวน 459.2 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากธุรกิจที่อ่อนตัวตามฤดูกาล รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่มาถือปฏิบัติ
กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร และกลุ่มการลงทุนอื่น มีรายได้คิดเป็นร้อยละ 38 ร้อยละ 21 ร้อยละ 22 และร้อยละ 19 ของรายได้รวมทั้งหมด ตามลำดับ
นอกจากนี้ TTA ยังมีผลขาดทุนจากการลงทุน จำนวน 195 ล้านบาท และมีผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของอนุพันธ์ในไตรมาส 1/2563 จำนวน 140.8 ล้านบาท ซึ่งถูกบันทึกตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) ปัจจัยหลักมาจากอนุพันธ์ประเภทสัญญาแลกเปลี่ยนราคาน้ำมัน (Bunker Swap) เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ณ สิ้นไตรมาส
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 TTA มีสินทรัพย์รวม จำนวน 35,020.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 หรือ 1,547.9 ล้านบาท จากสิ้นปี 2562 สาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สิทธิการใช้ ซึ่งถูกบันทึกตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 และผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินจากการดำเนินงานในต่างประเทศของสินทรัพย์ที่เป็นบวก
TTA ยังมีโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีเงินสดภายใต้การบริหารอยู่ในระดับสูงที่ 6,565 ล้านบาท และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (net IBD/E) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.09 เท่า
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA กล่าวว่า“การระบาดรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง จนส่งผลให้การค้าโลกชะลอตัว TTA ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 เป็นอันดับแรก เพื่อความปลอดภัยและเพื่อสุขภาพที่ดี ของพนักงานทุกคน ทั้งกลุ่มพนักงานที่ทำงาน ณ สำนักงานใหญ่ กลุ่มพนักงานที่ทำงานบนเรือ และที่สาขาร้านอาหาร ในขณะที่ ยังคงมุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบันที่ยังไม่แน่นอน”
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือยังคงรักษาตำแหน่งที่ดีในอุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) สูงกว่าอัตราตลาดสุทธิถึงร้อยละ 25 ด้านกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรยังคงสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง มีมูลค่าสัญญาให้บริการรอส่งมอบ (order book) ที่ยืนยันแล้ว ถึงปัจจุบันไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนพิซซ่า ฮัท ยังคงทำกำไรได้ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สาม
แนวโน้มในอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือนั้น มีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์การค้าสินค้าเทกองจะกลับมา ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 และในปี 2564 โดยเบื้องต้นคาดว่าอาจจะฟื้นตัวกลับมาเติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 5 ในปีหน้า เทียบกับอัตราการเติบโตของกองเรือที่ร้อยละ 2 อย่างไรก็ตามภาพรวมอุตสาหกรรมในอนาคตยังคงมีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
ด้านอุตสาหกรรมบริการนอกชายฝั่ง Rystad Energy ประมาณการภาพรวมอุตสาหกรรมการขุดเจาะและสำรวจ (drilling and exploration) ว่าจะลดลงร้อยละ 15 ในปี 2563 และคาดว่าการปรับลดงบประมาณในการสำรวจภาคสนาม (field development) จะส่งผลกระทบแก่ผู้ให้บริการภาคสนาม (field service provider) ต่อไป
ผลการดำเนินงานของแต่ละธุรกิจ
กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือ : ดัชนีบอลติค (BDI) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 592 จุด ในไตรมาสที่ 1/2563 ซึ่งเป็นผลกระทบตามฤดูกาลของธุรกิจและการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยรายได้ค่าระวางเรือของกลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรืออยู่ที่ 1,261.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 26 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากอัตราค่าระวางเรือที่ลดลงและจำนวนวันให้บริการของเรือที่เช่ามาเสริมกองเรือ (chartered-in-vessel) ลดลง
อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือยังคงรักษาค่าใช้จ่ายในการเดินเรือ (OPEX) อยู่ในระดับต่ำที่ 3,856 เหรียญสหรัฐต่อวัน อัตราการใช้ประโยชน์เรือที่กลุ่มธุรกิจฯ เป็นเจ้าของยังคงอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 100 อีกทั้งมีอัตราค่าระวางเรือเทียบเท่า (TCE) อยู่ที่ 7,817 เหรียญสหรัฐต่อวัน ซึ่งสูงกว่าอัตราค่าระวางเรือซุปราแมกซ์สุทธิ (net Supramax TC rate) ที่ 6,229 เหรียญสหรัฐต่อวัน อยู่ร้อยละ 25 ในไตรมาสที่ 1/2563 ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือมีกำไรขั้นต้น จำนวน 197.7 ล้านบาท และ EBITDA จำนวน 11.5 ล้านบาท
ดังนั้น กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือรายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA ก่อนกำไร (ขาดทุน) ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของอนุพันธ์ จำนวน 16.9 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1/2563
ณ สิ้นไตรมาส กลุ่มธุรกิจขนส่งทางเรือเป็นเจ้าของเรือซุปราแมกซ์ จำนวน 21 ลำ มีระวางบรรทุกเฉลี่ยเท่ากับ 55,285 เดทเวทตัน (DWT) และมีอายุเฉลี่ย 12.96 ปี และไม่มีการซื้อหรือขายเรือในไตรมาสที่ 1/2563
กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง : ราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 51 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และถูกซื้อขายอย่างผันผวนในกรอบ 22-69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในไตรมาสที่ 1/2563 ทั้งนี้ มาตรการ ล็อกดาวน์ของหลายๆ ประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลง สำหรับไตรมาสที่ 1/2563 รายได้ของกลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งอยู่ที่ 693.8 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากอัตราค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันลดลง
อัตราค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการที่เรือลำหนึ่งได้รับค่าจ้าง ขั้นต่ำเพื่อรอเริ่มงาน (standby rate) ของโครงการหนึ่งซึ่งถูกเลื่อนออกไปตามกำหนดการใหม่ของลูกค้ารายหนึ่ง และการที่เรือที่เช่ามาเพื่อทำงานแทนเรือที่ถูกนำไปเข้าอู่แห้งในอีกโครงการหนึ่งได้รับค่าจ้างต่อวันต่ำกว่าสัญญาปกติ ซึ่งเป็นไปตามสัญญาจ้างกรณีการเช่าเรือมาทำงานแทน
ขณะที่อัตราการใช้ประโยชน์เรือ (performing vessel utilization rate) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60 ใน ไตรมาสที่ 1/2562 เป็นร้อยละ 85 ในไตรมาสที่ 1/2563 ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนวันทำงานของเรือที่เพิ่มขึ้น ส่วนขาดทุนขั้นต้นอยู่ที่ 112.6 ล้านบาท ส่งผลให้ EBITDA เป็นลบอยู่ที่ 202.7 ล้านบาท
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจบริการนอกชายฝั่งรายงานผลขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 184.1 โดยมูลค่าสัญญาให้บริการที่รอส่งมอบ ณ สิ้นไตรมาส ยังคงแข็งแกร่งอยู่ที่ 193 ล้านเหรียญสหรัฐ
กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร : รายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรในไตรมาสที่ 1/2563 อยู่ที่ 696.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากปริมาณขายปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในระหว่างที่ธุรกิจอ่อนตัวตามฤดูกาลในไตรมาสที่ 1/2563 ได้เกิดภาวะความแห้งแล้งและค่าความเค็มของน้ำเพิ่มขึ้นในบางพื้นที่ของจังหวัดบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม ความต้องการภายในประเทศจึงลดลง แต่ถูกเกินดุลด้วยปริมาณการส่งออกปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการมุ่งเน้นการส่งเสริมการตลาดและเครือข่ายความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง จึงส่งผลให้ปริมาณขายปุ๋ยทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 54.8 พันตัน ขณะเดียวกัน กำไรขั้นต้น (spread) อยู่ที่ 140.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 66 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน EBITDA เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากศูนย์เป็น 34.1 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยสรุป ในไตรมาสที่ 1/2563 กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรรายงานผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TTA จำนวน 15.1 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 191 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากธุรกิจปุ๋ยเคมีแล้ว กลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรยังให้บริการจัดการพื้นที่โรงงาน โดยมีพื้นที่ให้บริการ 66,420 ตารางเมตร โดยมีพื้นที่ประมาณ 15,000 ตารางเมตร ถูกนำมาใช้ภายในเพื่อเก็บวัตถุดิบ ส่วนพื้นที่ส่วนที่เหลือถูกนำมาให้บริการลูกค้าภายนอกเต็มทั้งหมด รายได้จากการให้บริการจัดการพื้นที่โรงงานและรายได้อื่นลดลงร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 14.7 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 1/2563
กลุ่มการลงทุนอื่น : กลุ่มการลงทุนอื่นมุ่งเน้นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การบริหารทรัพยากรน้ำ และ โลจิสติกส์
- ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม:
1) พิซซ่า ฮัท ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ซึ่งสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 พิซซ่า ฮัท มีสาขาทั้งหมด 150 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งสาขาทั้งหมดที่เปิดใหม่เป็นสาขาที่เปิดตามหัวเมืองใหญ่
2) ทาโก้เบลล์ (Taco Bell) เป็นแฟรนไชส์อาหารกึ่งเม็กซิกันสไตล์ที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ดำเนินงานภายใต้บริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 70 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ทาโก้ เบลล์ มีสาขาทั้งหมด 6 สาขา ทั่วประเทศ ซึ่งสาขาทั้งหมดที่เปิดใหม่เป็นสาขาที่เปิดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ธุรกิจบริหารทรัพยากรน้ำ:
บริษัท เอเชีย อินฟราสตรักเชอร์ แมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (“AIM”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TTA ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 80.5 เป็นผู้ออกแบบ ก่อสร้าง และให้บริการครบวงจรทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ AIM ยังได้รับสัมปทานในการจำหน่ายน้ำประปาในหลวงพระบาง ประเทศลาว ผ่านบริษัทย่อยที่ AIM ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 66.7
www.mitihoon.com