WHA Group โชว์กำไรปกติ Q1/63 197 ล้านบาท โต 26% ฝ่า COVID-19

192

มิติหุ้น- บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA Group ประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 1/63 รายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุน 1,278 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 99 ล้านบาท โดยเป็นผลกำไรจากการดำเนินงานปกติ 197 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ด้าน GROUP CEO “ จรีพร จารุกรสกุล ” เดินหน้าตอกย้ำความมั่นใจ ส่งสัญญาณเชิงบวก ครึ่งปีหลังบริษัทฯ ยังเนื้อหอม นักลงทุนต่างชาติเริ่มทยอยกลับมาลงทุน พร้อมเติบโตต่อทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ รวมทั้งบริษัทฯ มีแผนในการขายทรัพย์สินเข้ากองทรัสต์ในไตรมาส 4

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2563 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 บริษัทฯ มีรายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วมและกิจการร่วมค้า 1,278 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 99 ล้านบาท โดยเป็นผลกำไรจากการดำเนินงานปกติ 197 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 หากไม่นับผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน และกำไรจากการรับรู้รายได้รอตัดบัญชีสำหรับทรัพย์สินที่ขายเข้ากอง WHABT ในปี 2558 ที่มีการรับรู้ ในไตรมาส 1 ปี 2562

ธุรกิจโลจิสติกส์และโรงงานให้เช่ายังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยที่บริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจการให้เช่าและให้บริการคลังสินค้าจากการดำเนินงานปกติ อยู่ที่ 286 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 27 เนื่องจากการขยายตัวของลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรม E-Commerce และ Consumer ซึ่งได้รับประโยชน์โดยตรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ส่งผลให้ความต้องการใช้พื้นที่เช่าคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ามีมากขึ้น และจากกรณีดังกล่าว บริษัทฯ จึงยังคงกำหนดเป้าหมายพื้นที่เช่าคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าในปี 2563 เพิ่มขึ้น 2.5 แสนตารางเมตร ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ มีพื้นที่ที่อยู่ในการบริหารทั้งสิ้นประมาณ 2.6 ล้านตารางเมตร

สำหรับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมยอดการโอนที่ดินชะลอตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางจากสถานการณ์ COVID-19 โดยบริษัทฯ รับรู้รายได้จากการโอนที่ดินอยู่ที่ 245 ล้านบาท และมียอดขายที่ดินใหม่ในไตรมาส 1 อีก 51 ไร่ แม้ตัวเลขจะมีการชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากลูกค้าไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ แต่ลูกค้ากลุ่มต่างๆยังคงแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง และโดยเฉพาะมีกระแสที่จะย้ายการลงทุนออกจากประเทศจีนของกลุ่มนักลงทุนชาวจีน ญี่ปุ่น และอเมริกา ออกมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น และประเทศไทยยังมีศักยภาพและความแข็งแกร่งในฐานะศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค และจุดแข็งของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอฯ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

ล่าสุดประเทศจีน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาลงทุนนิคมฯของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากกว่าร้อยละ 50 ของยอดขายที่ดิน เริ่มทยอยกลับมาฟื้นตัว กอปรกับนโยบายของทางการจีน ที่เตรียมอัดมาตรการกระตุ้นการลงทุน และเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลังจากที่เกิดวิกฤตในครั้งนี้ ยังส่งผลเชิงบวกกับหลายประเทศที่เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในการพึ่งพาวัตถุดิบจากจีน จากสัญญาณเชิงบวกดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ คาดว่าในเร็วๆนี้ จะเริ่มเห็นความชัดเจนการเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินอีกครั้ง และเชื่อว่าภาพรวมยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมสามารถกลับมาเติบโตตามแผนในครึ่งหลังของปีนี้

ธุรกิจการให้บริการสาธารณูปโภคชะลอตัวลงประมาณร้อยละ 5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน   เนื่องจากภาครัฐขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมให้ลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10 เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง โดยบริษัทฯ มีรายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคอยู่ที่ 534 ล้านบาท  นอกจากนี้ส่วนของการจัดหาแหล่งน้ำ (supply side) บริษัทฯ ได้ตัดสินใจเร่งการลงทุนในโครงการ Reclaimed Water โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตจาก 10,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขึ้นมาเป็น 30,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะเสริมความมั่นคงในการจัดหาแหล่งน้ำ และ ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรอีกด้วย นอกเหนือจากนั้นบริษัทมีมุมมองว่ายอดขายน้ำโดยรวมมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นหลังสถานการณ์ภัยแล้ง

ในส่วนของโครงการ Duang River Water Treatment Project ที่ประเทศเวียดนาม มีการขยายปริมาณการขายน้ำและการต่อขยายท่อส่งน้ำที่ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากมาตรการการควบคุมสถานการณ์โควิด 19 ของประเทศเวียดนาม โดยส่งผลให้ยังเกิดผลขาดทุนในการดำเนินงานในไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าการขยายตัวของยอดขายจะเติบโตสูงขึ้น หลังจากสถานการณ์ COVID-19 ในเวียดนามเริ่มคลี่คลาย

ธุรกิจไฟฟ้า กลุ่มบริษัทฯรับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติจากการดำเนินงานจากการลงทุนบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าไม่นับรวมการขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นร้อยละ 56 อยู่ที่ 245 ล้านบาท โดยมาจากกำลังการผลิตที่เติบโตอย่างต่อเนื่องของโรงไฟฟ้า SPP ที่มียอดขายลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าที่สำคัญคือ GNLL และ GNLL2 รวมถึงโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ (CCE) และ Solar Rooftop โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมอยู่ที่ประมาณ 570 เมกะวัตต์ นอกจากนี้โรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน มีรายได้จากค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment: AP) ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผน

ขณะที่ธุรกิจดิจิทัล มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมฯ เนื่องจากมีการนำระบบไอทีเข้ามาการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการติดตั้งไฟเบอร์ออพติก (FTTx) เพื่อครอบคลุมพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 10 แห่ง ในประเทศไทย   เพื่อเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และรองรับกลุ่มลูกค้าที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

 พร้อมกันนี้บริษัทฯ เตรียมแผนการขายทรัพย์สินของบริษัทฯ ให้กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (กองทรัสต์ WHART) และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เหมราช (กองทรัสต์ HREIT) คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายและสามารถรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 4/2563

บริษัทฯ มั่นใจในความแข็งแรงทางการเงิน โดยเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานของกิจการที่ปรากฏในงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพิ่มอีกในอัตราหุ้นละ 0.0535 บาท โดยเมื่อรวมกับการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่จ่ายไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ในอัตราหุ้นละ 0.0815 บาท แล้ว บริษัทฯ จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานของปี 2562 รวมเป็นอัตราที่จ่ายทั้งสิ้น หุ้นละ 0.1350 บาทต่อหุ้น

ทั้งนี้ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทฯ มองว่าบรรยากาศการลงทุนจะกลับมาเป็นปกติในครึ่งปีหลัง และเพิ่มโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องให้ทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจหลักของบริษัทฯ

www.mitihoon.com