เครื่องช่วยหายใจของภาคธุรกิจในภาวะวิกฤตโควิด-19

43

มิติหุ้น – คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2562 นั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ International Monetary Fund (IMF) ได้มีการคาดการณ์ใน World Economic Outlook 2020 ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี พ.ศ. 2563 จะติดลบมากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.3 เปอร์เซนต์ โดยการถดถอยของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้นั้น ทาง IMF ได้กล่าวว่าเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในโลก หรือ The Great Depression ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2472 เลยทีเดียว ดังนั้นในปี พ.ศ. 2563 หรือ อาจจะถึงปี พ.ศ. 2564 ธุรกิจจำนวนมากทั่วโลกและในประเทศไทยเองก็มีโอกาสสูงที่จะประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก ซึ่งหลายธุรกิจอาจประสบปัญหาหนักถึงขั้นเข้าสู่ภาวะล้มละลายเลยทีเดียว ในบทความนี้คณะผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเสนอมุมมองและแนวคิดเกี่ยวกับ กระบวนการล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งอาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ซ้ำเติมและฉุดระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย “ลงเหว” หากกระบวนการนี้มิได้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ในวันนี้คำว่า “ล้มละลาย” คงเป็นหนึ่งคำที่ผู้ประกอบการหลายคนคงไม่อยากได้ยิน เพราะเวลาที่ได้ยินคำนี้ หลายคนมักจะนึกถึงกระบวนการจำหน่ายและการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ (liquidation) เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม อีกกระบวนการหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ก่อนกระบวนการ liquidation และจะมีความสำคัญอย่างมากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ ก็คือกระบวนการฟื้นฟูกิจการ (reorganization) พระราชบัญญัติสำคัญฉบับหนึ่งที่ออกมาเพื่อช่วยลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลในรูปแบบของบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีหนี้สินจำนวนมากคือ พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 หรือที่เรียกกันว่า Chapter 11 (ตามกฎหมายล้มละลายของประเทศสหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นกระบวนการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวแต่อยู่ในสภาวะที่สามารถฟื้นฟูได้ จะได้รับการพักชำระหนี้ (automatic stay) ในทันที และอาจจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อให้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการได้ พระราชบัญญัติฉบับนี้มีความสำคัญมากเพราะก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติฉบับนี้ ลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ต้องเลิกกิจการและไม่มีกระบวนการฟื้นฟูกิจการแต่อย่างใด ซึ่งกระบวนการนี้มักถูกเรียกว่า Chapter 7 (ตามกฎหมายล้มละลายของประเทศสหรัฐอเมริกา) ซึ่งสาระสำคัญของ Chapter 7 คือการจำหน่ายและการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ (liquidation) และบริษัทก็จะถูกฟ้องล้มละลายโดยทันที

หนึ่งในงานวิจัยของ รศ.ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้เขียน ได้ศึกษากระบวนการล้มละลายและกระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยได้เก็บข้อมูลของบริษัทในประเทศไทยที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 คณะผู้วิจัยพบว่ากระบวนการฟื้นฟูกิจการ เป็นกระบวนการที่สำคัญมากในการช่วยฟื้นฟูภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต เพราะหากทุกบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงินในภาวะวิกฤตจะต้องจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้และถูกฟ้องล้มละลายโดยทันที กระบวนการแบบนี้จะเป็นการฉุดภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจให้ลงเหวที่ลึกไปกว่าเดิม ในมุมหนึ่ง เราอาจจะกล่าวได้ว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 หรือ Chapter 11 นั้นเปรียบเสมือนการให้ “เครื่องช่วยหายใจ” แก่บริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงินในภาวะวิกฤต แต่ยังมีศักยภาพทางธุรกิจและสามารถจ่ายหนี้คืนได้ในอนาคต ซึ่งจากงานวิจัยของ Bris และ คณะ (2006) ที่ศึกษาเปรียบเทียบผลลัพท์ของกระบวนการ Chapter 7 และ Chapter 11 ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า อัตราการได้รับชำระหนี้ของกระบวนการ Chapter 11 นั้นสูงกว่ากระบวนการ Chapter 7 อย่างมีนัยสำคัญในช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติ ในขณะที่ Gilson (2012) พบว่า Chapter 11 นั้นมีส่วนสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาฟื้นจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2551

ในอดีตกระบวนการฟื้นฟูกิจการของประเทศไทยนั้นก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้หลายบริษัทสามารถกลับมาเป็นกำลังสำคัญให้กับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันได้ อาทิเช่น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ที่เคยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้สามารถตกลงกันได้อย่างรวดเร็วและบริษัทก็ปฎิบัติตามแผนได้สำเร็จในเวลาเพียง 2 ปี หรือ อีกตัวอย่างหนึ่งคือ บริษัทปิโตรเคมิคัลไทย (TPI) หรือ บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน ที่เคยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในปี พ.ศ. 2543 และได้ปฎิบัติตามแผนจนสำเร็จในปี พ.ศ. 2549

อย่างไรก็ดี หากกระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้นเกิดขึ้นอย่างไม่มีประสิทธิภาพ กระบวนการฟื้นฟูกิจการก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้ ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การบรรลุข้อตกลงในกระบวนการฟื้นฟูกิจการระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้นั้นจะต้องเกิดขึ้น “อย่างมีประสิทธิภาพ” โดยจะต้องไม่ใช้เวลานานจนเกินไป ปัญหาหลักๆที่ทำให้กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้นไม่มีประสิทธิภาพ คือความล่าช้าในการบรรลุข้อตกลงในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพราะลูกหนี้และเจ้าหนี้ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ของบริษัทเลวร้ายไปกว่าเดิม ดังนั้นการบรรลุข้อตกลงในกระบวนการฟื้นฟูกิจการควรเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพ “หายใจต่อ” อย่างทันท่วงที เพราะมิฉะนั้นสถานการณ์ต่างๆ ของบริษัทอาจแย่ลงจนไม่สามารถฟื้นฟูกิจการก็เป็นได้ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ก็ไม่ดีต่อทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพราะถ้าลูกหนี้ไม่รอด เจ้าหนี้ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงิน) ก็จะไม่รอดเช่นเดียวกัน และอาจจะทำให้เกิดเป็นวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่ก็เป็นได้

จากวิกฤตครั้งก่อนๆที่เราประสบ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี พ.ศ. 2551 หรือแม้แต่วิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ เราอาจจะกล่าวได้ว่าการให้ความช่วยเหลือธุรกิจที่มีศักยภาพโดยการเสริมสภาพคล่องหรือกระแสเงินสดของธุรกิจเหล่านี้ ก็เปรียบเสมือนการให้เครื่องช่วยหายใจแก่ผู้ป่วยโควิด-19 นั้นเอง ซึ่งถ้ากระบวนการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นมีความล่าช้าในการออกแผนฟื้นฟูกิจการ หรือ การเลือกปฏิบัติ ก็อาจจะเป็นการซ้ำเติมระบบเศรษฐกิจที่บอบช้ำมากอยู่แล้ว และอาจจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ฉุดระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย “ลงเหว” ก็เป็นได้

ปัจจุบันหลายธุรกิจได้รับผลกระทบเชิงลบจากวิกฤตโควิด-19 อย่างรุนแรง อาทิเช่น ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจสายการบิน ที่ต้องขาดรายได้ ขาดกระแสเงินสด และอาจจะถึงขั้นล้มละลาย โดยที่ในขณะนี้ หนึ่งในบริษัทที่หลายคนให้ความสนใจในประเด็นนี้เป็นอย่างมากคือ บริษัทการบินไทย ที่กำลังขาดรายได้อย่างรุนแรงและเกิดหนี้สินอย่างมากมาย และอาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ หรือ Chapter 11 ซึ่งเราคงจะต้องติดตามดูกันต่อไปว่า สถานการณ์ของบริษัทการบินไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ การเจรจาจะใช้เวลานานเกินไปหรือเปล่า แผนกระบวนการฟื้นฟูกิจการจะเป็นอย่างไรและสามารถปฏิบัติได้จริงมากน้อยเพียงใด เพื่อทำให้บริษัทการบินไทยสามารถหลุดจากการมีหนี้สิน และกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติที่จะเป็นกำลังสำคัญให้กับภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

www.mitihoon.com