ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 27-32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 29-34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 18 พฤษภาคม 2563
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (18 – 22 พ.ค. 63)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายประเทศได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและเปิดเศรษฐกิจบางส่วน ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการเริ่มปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและพันธมิตร รวมถึงการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลต่อการแพร่ระบาดระลอก 2 ที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุน หลังหลายประเทศทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย เยอรมนี ฝรั่งเศส และบางรัฐในสหรัฐฯ เริ่มเปิดเมืองและกลับมาดำเนินธุรกิจบ้างแล้ว หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีความกังวลว่าสถานการณ์โควิดระลอก 2 อาจเกิดขึ้นได้หลังจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ได้แก่ ในเกาหลีใต้และจีน ที่มียอดติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง
- กลุ่มโอเปกและพันธมิตร (โอเปกพลัส) ให้ความเห็นว่าอาจมีการขยายระยะเวลาสำหรับข้อตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบราว 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.63 ออกไป โดยทางกลุ่มโอเปกพลัสจะตัดสินใจในเรื่องปริมาณการผลิตน้ำมันดิบรวมถึงระยะเวลาอีกครั้งในการประชุมครั้งถัดไปช่วงต้นเดือน มิ.ย.63 โดยล่าสุดซาอุดิอาระเบียประกาศจะลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากระดับ 8.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ค.63 ลงอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน มิ.ย. 63 เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยล่าสุดรายงานประจำเดือน พ.ค.63 ของกลุ่มโอเปก ประเมินว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 63 อาจลดลงถึง 9.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือราวร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับปี 62 ซึ่งถือว่าเป็นการปรับลดลงจากการประเมินครั้งก่อนที่มองว่าจะลดลงเพียง 6.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (IEA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 8 พ.ค.63 ปรับตัวลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ราว 75 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 4.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งอาจเป็นสัญญาณถึงความต้องการใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังหลายรัฐประกาศคลายล็อคดาวน์
- เบเกอร์ ฮิวจ์ (Baker Hughes) รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซที่มีการใช้งานทั้งหมดในสหรัฐฯ ลดลง 34 แท่น สู่ระดับ 374 แท่น ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ณ สัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 8 พ.ค. 63 โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซปรับลดลงเฉลี่ย 52 แท่นต่อสัปดาห์ หลังราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มี.ค.63 ที่ผ่านมา เนื่องจากสงครามราคาระหว่างรัสเซียกับซาอุดิอาระเบียและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กดดันความต้องการใช้น้ำมัน
- ปัจจุบันสหรัฐฯ ใช้เงินอัดฉีดเพื่อกระตุ้นและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจไปแล้วราว 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เตือนว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจต้องใช้ระยะเวลานานกว่าที่คาดการณ์และอาจต้องมีการออกนโยบายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้น
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 1/63 ของประเทศญี่ปุ่น อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีนและกลุ่มยูโรโซน รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) และดัชนีผู้บริโภคของอังกฤษ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 – 15 พ.ค. 63)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 4.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 29.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 32.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 32.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศทั่วโลก เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง เนื่องจากผู้ติดเชื้อรายใหม่จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดน้อยลง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ของกลุ่มโอเปกและพันธมิตรที่เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา
www.mitihoon.com