สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 11-15 พ.ค. 63 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 18-22 พ.ค. 63

205

 

โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต จะร่วมมือกันลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมจากโควต้าตามข้อตกลงของ OPEC+ ในการประชุมเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 63 โดย ซาอุฯ มีแผนลดปริมาณการผลิตในเดือน มิ.ย. 63 เพิ่มเติมจากโควต้า ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะลดปริมาณการผลิตเพิ่มเติม ปริมาณ 80,000 บาร์เรลต่อวัน และ 100,000 บาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ทางการอิรักเปิดเผยว่าจะสามารถปรับลดปริมาณการผลิตได้เพียง 700,000 บาร์เรลต่อวัน ลดน้อยกว่าข้อตกลง OPEC+ ที่ 1.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • Reuters รายงานว่า OPEC+ กำลังพิจารณาขยายเวลามาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 63 ออกไป ทั้งนี้ ตามข้อตกลงเดิมของ OPEC+ ในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. 63 จะลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพียง 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • รายงานของ IEA ฉบับเดือน พ.ค. 63 ประเมินความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 2563 จะอยู่ที่ 91.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปีก่อน 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม IEA ปรับเพิ่มคาดการณ์ขึ้นจากประมาณการณ์ครั้งก่อน 700,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากไม่ได้มองว่าผลกระทบจาก COVID-19 รุนแรงเท่าครั้งก่อน
  • EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 745,000 บาร์เรล อยู่ที่ 531.5 ล้านบาร์เรล โดยปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่บริเวณ Cushing รัฐ Oklahoma (จุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.0 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 62.4 ล้านบาร์เรล
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 15 พ.ค. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 34 แท่น อยู่ที่ 258 แท่น ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือน ก.ค. 52

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • รายงานฉบับเดือน พ.ค. 63 ของ EIA คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2563 จะลดลงจากปีก่อน 8.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 92.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เดือน เม.ย. 63 คาดว่าจะลดลงจากปีก่อน 5.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันโลกจะลดลง 5.4 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อน  มาอยู่ที่ 95.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เดือน เม.ย. 63 คาดว่าจะลดลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ด้านอุปสงค์น้ำมันของสหรัฐฯ คาดว่าปี 2563 จะลดลงจากปีก่อน  2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 18.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน และการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ จะลดลงจากปีก่อน  500,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 11.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • รายงานฉบับเดือน พ.ค. 63 ของ OPEC คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2563 จะลดลงจากปีก่อน 9.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เดือน เม.ย. 63 คาดว่าจะลดลงจากปีก่อน  6.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และความต้องการใช้น้ำมันจากกลุ่ม OPEC (Call-on-OPEC) อยู่ที่ 24.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 240,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ในเดือน เม.ย. 63
  • OPEC รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ในเดือน เม.ย. 63 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 30.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต ผลิตเพิ่มขึ้น
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แสดงความวิตกต่อสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยผลกระทบจาก COVID-19 และอาจจะใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าที่คาด ซึ่ง Fed จะใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่อย่างเต็มกำลังจนกว่าวิกฤติครั้งนี้จะผ่านพ้นไป และส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะไม่ผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ อีกทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งการใช้จ่ายทางการคลังอีกแรงหนึ่ง หลังรัฐสภาจัดสรรงบประมาณเกือบ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 พ.ค. 63 ลดลง 1.95 แสนราย จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 2.98 ล้านราย อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่สหรัฐฯ ประกาศ Lockdown รัฐต่างๆ ในช่วงกลางเดือน มี.ค. 63 เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของ COVID-19 มีผู้ยื่นขอรับสวัสดิการรวมแล้วมากกว่า 36.5 ล้านราย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 5 ของประชากรในวัยทำงานทั้งหมดของสหรัฐฯ

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบ Brent ทรงตัวบริเวณใกล้เคียง $30/BBL ก่อนที่ในช่วงการซื้อขายระหว่างวัน (intraday trade) ของวันนี้ (วันจันทร์ที่ 18 พ.ค. 63) จะทะยานขึ้นเหนือ $33/BBL หลังประเทศต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ประกอบกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเกินคาดหมายทั้งกลุ่ม OPEC+ และสหรัฐฯ ล่าสุด จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในสหรัฐ ฯ สัปดาห์ที่ผ่านมารวมอยู่ที่ 339 แท่น ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2483 และ Reuters รายงานรัสเซียผลิตน้ำมันดิบและคอนเดนเสท ช่วงวันที่ 1-14 พ.ค. 63 อยู่ที่ 9.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับเดือน เม.ย. 63 อยู่ที่ 11.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกบ่งชี้ภาวะถดถอย เช่น ยอดขายปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐ ฯ ลดลง และการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) เดือน เม.ย. 63 ลดลงรายเดือนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนั้น GDP ของญี่ปุ่นไตรมาส 1/63 หดตัว 3.4% จากไตรมาสก่อนหน้า บ่งชี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) โดยทั่วโลกยังคงเฝ้าระวังการระบาดระลอกสอง (Second Wave) ของ COVID-19 คือหลังจากที่ไวรัสแพร่กระจายไปทั่วโลกจะมีอัตราการแพร่กระจายที่ลดลง ก่อนที่อีกไม่กี่เดือนต่อมาอาจจะกลับมาแพร่ระบาดทั่วโลกอีกครั้ง ให้จับตา พายุโซนร้อน “Arthur” ซึ่งมีการพยากรณ์ว่าจะพัดเข้าชายฝั่งสหรัฐฯ วันนี้ นับเป็นพายุลูกแรกในฤดูกาลเฮอริเคน (Hurricane Season) ในมหาสมุทรแอตแลนติกปีนี้ ซึ่งเริ่มต้นเร็วกว่าฤดูกาลปกติ คือ วันที่ 1 มิ.ย. 63 และนักพยากรณ์ยังชี้ว่ามีสัญญาณเตือนถึงความรุนแรงของ Hurricane Season ในปี 2563 ซึ่งอาจเทียบเท่าความรุนแรง ในปี 2548 ซึ่งปีนั้นมีพายุถึง 28 ลูก และที่สำคัญคือมีเฮอริเคน “Katrina” ซึ่งสร้างความสูญเสียมูลค่าสูงถึง 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 29.5-36.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 25.5-32.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 27.5-34.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์น้ำมันเบนซินในตะวันตกทั้งสหรัฐฯ และยุโรป เริ่มฟื้นตัวหลังรัฐบาลผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทาง และการจราจรในเมืองใหญ่เพิ่มขึ้น EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ค. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.5 ล้านบาร์เรล  มาอยู่ที่ 252.9 ล้านบาร์เรล  ต่ำสุดในรอบ 1 เดือน ในเอเชีย IES รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 พ.ค. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 970,000 บาร์เรล  มาอยู่ที่ 15.37 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบกว่า 1 เดือน อย่างไรก็ตาม อุปทานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากจีนและอินเดีย โดย Reuters รายงานรัฐบาลจีนจัดสรรโควตาส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปให้กับบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ปริมาณรวม 28 ล้านตัน สำหรับไตรมาสที่ 2/63 ใกล้เคียงกับโควตาไตรมาสที่ 1/63 (27.99 ล้านตัน) อนึ่ง ในปี 2562 โควตาทั้งหมดอยู่ที่ 56 ล้านตัน ขณะที่โรงกลั่นเอกชนในมณฑล Shandong ของจีนกลับมาเดินเครื่องในระดับที่สูงขึ้น ในเดือน เม.ย. 63 มีอัตราเดินเครื่องเฉลี่ยอยู่ที่ 73.5% เพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.1% นอกจากนี้ บริษัท Indian Oil Corp. (IOC) ของอินเดียเพิ่มปริมาณน้ำมันดิบที่นำเข้ากลั่นมาอยู่ที่ระดับ 80% ของกำลังการกลั่นทั้งหมด     ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.5-37.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับน้ำมันเบนซินเนื่องจากอุปสงค์ฟื้นตัวหลังรัฐบาลทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายมาตรการ Lockdown แต่ยังได้รับแรงกดดันจากอินเดียส่งออกเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลลดลง โดยอินเดียส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน เม.ย. 63 ปริมาณรวมประมาณ 2,500 ตันเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือน ม.ค. 63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2,000 ตัน ขณะที่ปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 13 พ.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 160,000 บาร์เรล  อยู่ที่ 14.16 ล้านบาร์เรล  สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.0-38.5  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

www.mitihoon.com