มิติหุ้น – CKP ยิ้มรับไฮซีซันไตรมาส 2/63 ฝนเริ่มตกชุกหนุนปริมาณน้ำเพิ่ม ส่งผลเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเดินเครื่องเต็มกำลังผลิต มั่นใจรายได้ปีนี้โตไม่ต่ำกว่าปีก่อน ยืนยันฐานะการเงินแข็งแกร่ง ฟากโบรกฯ ชี้ผลงานเริ่มฉายแววฟื้นตัว ให้คำแนะนำ “ซื้อ”
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ซีเค พาวเวอร์ หรือ CKP ประกอบธุรกิจโฮลดิ้งคอมพานีลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดยนักวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ประเมินแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/63 จะเริ่มทยอยฟื้นตัว ตามปริมาณน้ำในเขื่อนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำของ CKP ทั้งในส่วนของ “โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2” และ “โรงไฟฟ้าไซยะบุรี” จะกลับมาผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลังการผลิต จากที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าปกติ ซึ่งผ่านจุดต่ำสุดของปีมาแล้ว ดังนั้น ให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 4.50 บาท
รับไซยะบุรีเต็มปี-ฐานะแกร่ง
นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ CKP เปิดเผยว่า หากปริมาณน้ำฝนกลับสู่สภาวะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานทั้งปี 63 จะเติบโตไม่ต่ำกว่าปีก่อนที่มีรายได้รวม 8,840 ล้านบาท โดยในปี 63 จะเป็นปีที่บริษัทฯ รับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปีจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี และโครงการโซลาร์รูฟท๊อปอีกจำนวน 5 โครงการ และมีแผน COD โครงการโซลาร์พื้นดินอีก 1 โครงการ ในไตรมาส 2/63
ส่วนสถานการณ์ COVID-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัท เนื่องจากลูกค้าหลักที่เป็นคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากบริษัท คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถึงแม้จะมีลูกค้าบางส่วนที่เป็นลูกค้าอุตสาหกรรม แต่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทั้งหมด และปริมาณการซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมก็ยังไม่มีสัญญาณลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญ
โดยปัจจุบันบริษัทยังคงมีผลกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย ก่อนรวมส่วนแบ่งกำไร (ขาดทุน) จากเงินลงทุนในกิจการที่ควบคุมร่วมกันและบริษัทร่วมในไตรมาส 1 จำนวน 687 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราร้อยละ 39 ของรายได้ นอกจากนี้ บริษัทมีเงินสดตามงบการเงินรวม ณ วันที่ 31 มี.ค.63 จำนวน 4,547.7 ล้านบาท และมีอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ในเกณฑ์ดี คือ อัตราส่วน Net Interest-bearing Debt to Total Equity อยู่ที่ 0.65 เท่า เมื่อเทียบกับข้อกำหนดของหุ้นกู้ที่ให้คงอัตราส่วนไม่ให้เกิน 3.00 เท่า
“ในภาพรวม กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพียงพอในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายทางการเงิน รวมถึงการลงทุนในการขยายธุรกิจ โดยบริษัทยังมีวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้กับสถาบันการเงินรวมกว่า 10,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในการลงทุนขยายกิจการอีกด้วย” นายธนวัฒน์ กล่าว
รุกเป้า 5 พันเมกะวัตต์ – รายใหญ่กอดหุ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ คงเป้าหมายกำลังการผลิตติดตั้งรวม 5,000 MW ในปี 2568 (2025) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP2018) ส่วนการลงทุน โครงการใหม่ใน สปป. ลาว ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา สำหรับราคาหุ้น CKP ในช่วงไตรมาส 1/63 มีการปรับตัวลดลงตามสภาวะตลาด กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศมีการปรับลดหุ้น CKP ในพอร์ตการลงทุนลงบ้าง แต่กลุ่มผู้ถือหุ้นหลัก คือ กลุ่ม ช.การช่าง และกลุ่มนักลงทุนสถาบันต่างประเทศทั้งที่ลงทุนโดยตรงและลงทุนผ่าน NVDR ยังคงมีความเชื่อมั่นในศักยภาพและการเติบโตในระยะยาวของ CKPower โดยจากข้อมูลการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นครั้งล่าสุด ทั้งสองกลุ่มก็มีการปรับเพิ่มหุ้น CKP ในพอร์ตการลงทุนขึ้นเล็กน้อย
www.mitihoon.com