มิติหุ้น – ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผย
ผลการศึกษา เรื่อง วิถีชีวิตใหม่ กับ ระยะห่างทางสังคม กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,320 ตัวอย่าง ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดจากทั่วทุกภูมิภาค ดำเนินการในระหว่างวันที่ 10 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อมาตรการของรัฐบาลในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 พบว่าร้อยละ 99.5 เห็นด้วยต่อมาตรการการป้องกันโรค อาทิ การใส่หน้ากาก การล้างมือ เป็นต้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เท่ากันกับมาตรการการเว้นระยะห่าง อาทิ การทำเครื่องหมายที่พื้น การทำงานที่บ้าน เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 98.6 เห็นด้วยต่อมาตรการการให้ข้อมูล อาทิ การแถลงข่าวรายวัน เป็นต้น ร้อยละ 96.1 เห็นด้วยต่อมาตรการการลงโทษ ร้อยละ 95.2 เห็นด้วยต่อมาตรการเยียวยา และร้อยละ 93.2 เห็นด้วยต่อการเสนอมาตรการผ่อนปรน ตามลำดับ
เมื่อถามถึงการออกนอกบ้านพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 36.2 ออกนอกบ้านไม่เกิน 1 ครั้งต่อวัน ในขณะที่ร้อยละ 17.4 ยังคงออกนอกบ้านตามปกติ ที่น่าสนใจคือการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 44.5 มีการลดการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ รองลงมาคือร้อยละ 32.9 ไม่ได้ลดการใช้ขนส่งสาธารณะเลย
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงการปฏิบัติตนเมื่ออยู่นอกบ้าน พบว่า ส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 60 มีการล้างมือด้วยน้ำหรือสบู่ ในขณะที่การเช็ดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์มากกว่า 5 ครั้งเป็นประจำทุกวัน อยู่ในระดับที่ไม่ถึงร้อยละ 50 การแยกรับประทานอาหารและการปรับที่นั่งให้ห่างจากผู้อื่น ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 51.3 มีการแยกทานอาหารเดี่ยวเป็นประจำ แต่มีถึงร้อยละ 15 ที่ไม่ได้ทำเลย และ มีเพียงร้อยละ 42.9 ที่ปรับที่นั่งห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร
ในประเด็นของการดูแลผู้สูงอายุในบ้าน ผลการศึกษายังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ โดยพบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 38 ไม่มีการวัดไข้หรือสังเกตอาการผู้สูงอายุเลย และมีถึงร้อยละ 37.8 ที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่ใกล้กับผู้สูงอายุ ในประเด็นของการทำงาน พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 38.6 ไม่ได้ Work From Home และร้อยละ 45.9 ยังไม่มีมาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.7 ได้ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างระดับมาก ร้อยละ 29.2 ได้ปฏิบัติระดับปานกลาง และร้อยละ 1.1 ได้ปฏิบัติน้อย
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เป็นหน่วยปฏิบัติการหลักของกระทรวง รวมทั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนาภายใต้ศูนย์บริหารสถานการณ์
โควิด-19 ของรัฐบาลในการทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนให้มีการศึกษาติดตามการปฏิบัติตนของประชาชนตามมาตรการเว้นระยะห่างการใช้ชีวิตในสังคม (Social Distancing) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบาย และสนับสนุนมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล
“เมื่อพิจารณาจากผลการศึกษาพบว่ายังมีหลายประเด็นที่ต้องเร่งสื่อสารและทำความเข้าใจกับประชาชนให้เกิดความตระหนักรู้ และสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ในการป้องกันตนเองและบุคคลรอบข้าง เพื่อร่วมกันยุติการแพร่ระบาดของโรคผลการศึกษานี้จะช่วยสามารถสะท้อนในเชิงนโยบายได้ทั้งในแง่ของการสร้างการรับรู้ การเผยแพร่ข้อมูลความเข้าใจให้กับประชาชน รวมทั้งการขอความร่วมมือจากกิจการและผู้ประกอบการในการจัดหาและการกำหนดมาตรการของหน่วยงานเพื่อร่วมกันสร้างสมดุลชีวิตวิถีใหม่ หรือ Balance in the New Normal ให้มีขึ้นในสังคมไทย” ศ.ดร.นายแพทย์ สิริฤกษ์ กล่าว
ในขณะที่ รองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประชาชนเห็นด้วยกับมาตรการของรัฐบาลและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติค่อนข้างดี แต่เมื่อพิจารณาการปฏิบัติในครอบครัวที่มีผู้สูงอายุและเด็กยังมีการปฏิบัติที่มีความเสี่ยงอยู่ถึงร้อยละ 40-50 เรื่องการจัดพื้นที่การใช้ห้องน้ำ ดังนั้นจึงควรมีการให้ข้อมูลและเยี่ยมบ้าน เพื่อสนับสนุนความเป็นไปได้ในการลดโอกาสเสี่ยงให้กับผู้สูงอายุและเด็กเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ประเด็นการป้องกัน เริ่มมีการปฏิบัติน้อยลง เรื่องการใช้ห้องน้ำ การล้างมือ จึงควรเน้นย้ำให้มากขึ้นต่อไป
ส่วนประเด็นการเว้นระยะห่างเมื่อไปทำงาน หรือในสถานที่ทำงาน พบว่า ประชาชนมีการออกนอกบ้าน เพื่อใช้เวลานอกบ้าน เพื่อประกอบอาชีพ เพื่อซื้ออาหารและสิ่งจำเป็น ประมาณ 50 % ต่อสัปดาห์ ส่วนการปฏิบัติตนเรื่องการทำงานจากบ้าน การเหลื่อมเวลา มีการปฏิบัติระหว่าง 40-50 % ซึ่งปัจจุบันเมื่อมีการผ่อนปรน ระยะที่ 2 จึงควรรีบสร้างการตระหนัก ในการปฏิบัติตัวเว้นระยะห่างทางกายภาพในที่ทำงานให้มากขึ้นสร้างความชัดเจนเรื่องการเหลื่อมเวลา และการจัดพื้นที่ให้ชัดเจนขึ้น
www.mitihoon.com