เอไอเอส ผนึก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล – คณะวิศวฯ มหิดล นำ 5G เสริมทัพหน่วยเคลื่อนที่ ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

222

มิติหุ้น – เอไอเอส เดินหน้านำพลานุภาพเครือข่าย 5G อัจฉริยะ สนับสนุนการแพทย์และวงการสาธารณสุขไทยอย่างต่อเนื่อง ครบทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตคนไทยรอบด้าน พร้อมรับวิถี New Normal ล่าสุด สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ร่วมยกระดับการแพทย์เคลื่อนที่ให้ก้าวไปอีกขั้น โดยผนึกความร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำศักยภาพเครือข่าย 5G ที่ทรงพลานุภาพและระบบสื่อสาร ทั้ง 5G CPE อุปกรณ์รับและกระจายสัญญาณ 5G, ซิมการ์ด 5G เสริมประสิทธิภาพ “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit)” ซึ่งออกแบบและสร้างโดยศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นของเครือข่าย 5G ทั้งในเรื่องความเร็วสูง (High Speed), ความหน่วงต่ำ (Low Latency) และความสามารถในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่หลากหลาย (IoT Connectivity) จะเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการรักษาในระยะฉุกเฉินให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันทั้งชนิดตีบและแตกอย่างรวดเร็ว เพิ่มโอกาสในการรักษาอย่างทันท่วงทีและลดการสูญเสีย ยกระดับการแพทย์เคลื่อนที่พร้อมสร้างประโยชน์เพื่อคนไทยให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม สอดคล้องกับความมุ่งมั่นตั้งใจของเอไอเอสและแนวคิด “5G ที่จับต้องได้ เพื่อทุกชีวิต”

นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “เอไอเอสในฐานะผู้นำดิจิทัลไลฟ์​ เราได้นำนวัตกรรมเครือข่ายและเทคโนโลยีมาสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลศิริราชมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เอไอเอสได้เดินหน้าภารกิจ AIS 5G สู้ภัยโควิด-19 เราได้สนับสนุนโรงพยาบาลศิริราชในการส่งมอบนวัตกรรมหุ่นยนต์บริการทางการแพทย์​ 5G ROBOT FOR CARE เพื่อเป็นผู้ช่วยแพทย์และพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย ช่วยลดงาน ลดเสี่ยงติดเชื้อ พร้อมติดตั้งเครือข่าย 5G เพื่อรองรับการใช้งานเทคโนโลยีและโซลูชันส์ทางการแพทย์ที่ต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และการตอบสนองที่รวดเร็วอย่างยิ่ง 5G จึงเป็นโครงข่ายที่เหมาะสมที่จะสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาล เพราะทุกวินาทีมีความหมายต่อชีวิต โดยได้ส่งมอบไปเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563

เช่นเดียวกับในวันนี้ที่การรักษาพยาบาลเคลื่อนที่ (Mobility) ก็เป็นการรักษาพยาบาลรูปแบบหนึ่งที่สร้างโอกาสให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาในระยะฉุกเฉินได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เอไอเอสมุ่งนำศักยภาพ เครือข่ายอัจฉริยะ AIS 5G ร่วมพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยรอบด้าน เราจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยกระดับการแพทย์เคลื่อนที่ให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น ด้วยนำศักยภาพเครือข่าย 5G, 5G CPE อุปกรณ์รับและกระจายสัญญาณ 5G , ซิมการ์ด 5G เข้ามาเสริมประสิทธิภาพหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) เพิ่มขีดความสามารถการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยนำเครือข่าย 5G เข้ามาเสริมประสิทธิภาพระบบปรึกษาทางไกลกับแพทย์เฉพาะทางที่อยู่ทางโรงพยาบาล พร้อมกล้องส่งสัญญาณภาพ เพื่อให้แพทย์สนทนากับผู้ป่วยขณะอยู่บนรถ เพื่อวินิจฉัยการรักษาเบื้องต้น และเตรียมพร้อมวางแผนการรักษาก่อนมาถึงโรงพยาบาล เพื่อร่วมดูแลคุณภาพชีวิตคนไทยและยกระดับการรักษาพยาบาลให้เข้าถึงคนไทยได้อย่างไร้ข้อจำกัด สอดคล้องกับแนวคิด 5G ที่จับต้องได้ เพื่อทุกชีวิต”

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์  วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า “การผนึกกำลังของมหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยผู้นำเครือข่าย 5G  เรามุ่งพัฒนาเพื่อสังคมส่วนรวมให้ประชาชนคนไทยได้เข้าถึงการรักษาในระยะฉุกเฉินให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันทั้งชนิดตีบและแตกอย่างรวดเร็ว ด้วยหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) เปรียบเสมือนการนำโรงพยาบาลไปสู่ชุมชน เพื่อลดระยะเวลาในการเปิดหลอดเลือดสมองที่อุดตันทำให้อัตราการเสียชีวิตและพิการลดลงได้ โดยจะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่มีอาการตาตก ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง แบบเบ็ดเสร็จในรถ ตั้งแต่เริ่มมีอาการไม่เกิน 4 ชั่วโมง โดยผู้พบผู้ป่วยโทรแจ้ง 1669 เข้าศูนย์เอราวัณ  ทางศูนย์ฯ จะคัดกรอง แล้วแจ้งต่อไปยังหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ในเขตที่ดูแลเพื่อให้เข้าไปรับผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ เพื่อตรวจคัดกรองอาการและนำผู้ป่วยมาที่จุดนัดพบสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ขณะเดียวกันทางศูนย์เอราวัณก็แจ้งหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) ที่มีผู้เชี่ยวชาญโรคหลอดเลือดสมองเป็นผู้รับสายและซักถามอาการ และตามทีมแพทย์ พยาบาล นักรังสีการแพทย์ และพนักงานขับรถ ให้ออกปฏิบัติการรับผู้ป่วย เพื่อการรักษาในรถของหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช (Siriraj Mobile Stroke Unit) ที่จุดนัดพบ ตามที่ได้ประสานงานไว้แล้ว ขณะนี้ รถรุ่นใหม่ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020 จำนวน 3 คัน อยู่ระหว่างการผลิต กำหนดแล้วเสร็จของรถคันที่ 2 ประมาณเดือนสิงหาคม 2563 และคันที่ 3 และ 4 จะแล้วเสร็จภายในปี 2563”

ด้าน รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit) ในรูปแบบของรถมาจากความคิดริเริ่มของศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช พัฒนารถต้นแบบคันแรกเสร็จในปี 2561 ซึ่งต่อมาในปี 2562 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาความก้าวหน้าทางสมรรถนะและเทคโนโลยี ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จากสองปีที่เปิดบริการแก่ประชาชนสามารถรองรับการรักษาช่วยผู้ป่วย 287 ราย ตอบโจทย์การแพทย์-ดิจิทัลเฮลท์แคร์และเฮลท์เทค  สำหรับ ปี 2563 นี้ จะเป็นรถรุ่นใหม่ หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช 2020 จำนวน 3 คัน ด้วยความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การนำของ รศ. นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช และ ผศ. ดร.พรชัย ชันยากร รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพกระบวนการและผู้เชี่ยวชาญ โดยทีมวิศวกรและนวัตกรผู้เชี่ยวชาญจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกแบบและพัฒนาโครงสร้างรถ  ระบบวิศวกรรมต่าง ๆ และระบบการสื่อสารภายในรถที่ก้าวหน้าทันสมัยด้วยเทคโนโลยี โดยใช้วัสดุและซัพพลายในประเทศไทยและอาเซียนเป็นส่วนใหญ่ ผ่านการทดสอบสมรรถนะและความปลอดภัยด้านยานยนต์ ตามมาตรฐานสหภาพยุโรป หรือ EU วางระบบไฟฟ้าบนแพลทฟอร์มระบบขับเคลื่อนหลักสามารถปรับใช้ได้ทั้งแบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) หรือ ไฮบริดแบบปลั๊กอิน หรือ EV  ครบครันด้วยระบบกู้ชีพ และระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine เชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารภายในรถกับโครงข่ายสื่อสาร 5G ด้วยซิม นอกจากนี้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยังบริหารจัดการระบบอำนวยการแพทย์และระบบปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีศูนย์ควบคุมทางการแพทย์ ณ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช และมีศูนย์ทดสอบสมรรถนะที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา อีกด้วย

เทคโนโลยีด้านการสื่อสาร 5G ที่มีเสถียรภาพและความเร็วสูง ผสานกับการออกแบบตัวรถและระบบ Mobile Stroke Unit จะช่วยเรื่องการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง การส่งภาพ CT Scan สมองและสัญญาณชีพของผู้ป่วย ซึ่งเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถทำได้อย่างรวดเร็วเสมือนกับผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมอง แม้ว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะอยู่ห่างออกไปหลายร้อยหรือหลายพันกิโลเมตรก็ตาม ด้วยข้อมูลที่เป็นเรียลไทม์และมีความละเอียดสูงจะส่งผลให้การตัดสินใจวางแผน และทำการรักษาของบุคคลากรการแพทย์สามารถกระทำได้ทันทีและแม่นยำก่อนผู้ป่วยจะเดินทางมาถึงโรงพยาบาล ดังนั้น การมีเทคโนโลยี 5G จะเพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ขั้นสูงของประชาชนคนไทย”

www.mitihoon.com