ASIMAR ผลงาน Q1 สุดปัง กำไรโตกว่า 10 เท่า มั่นใจรายได้ปี 63 โต 30% ตามเป้า – เพิ่มไลน์โปรดักส์ใหม่ขยายงานซ่อมเรือ

80

มิติหุ้น – ASIMAR เปิดแผนรับมือสู้โควิด-19 เน้นให้ความสำคัญดูแลพนักงานให้ปลอดภัย เผยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด บริษัทฯ ยังคงมีรายได้จากงานซ่อมเรือเป็นหลัก หนุนรายได้ปีนี้โตราว 30% วางแผนลงทุนในปีนี้ 30 ลบ. เน้นปรับปรุงเครื่องมือ อุปกรณ์ เพิ่มประสิทธิภาพงาน ขณะที่แผนการลงทุนอู่ จ.สุราษฎร์ธานี เพิ่มไลน์โปรดักส์ใหม่ เป็นเอเย่นต์ซ่อมเรือยางท้องแข็ง ที่ใช้ในหน่วยงานกองทัพเรือ เจาะตลาดภาคใต้ ล่าสุดประกาศผลงานไตรมาสแรก ปี 63 มีรายได้รวม 133.50 ลบ. เพิ่มขึ้น 22.35% จากการส่งมอบงานต่อเรือโดยสารอลูมิเนียมปรับอากาศจำนวน 4 ลำ ของบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ขณะที่ กำไรสุทธิอยู่ที่ 10.97 ลบ. พุ่งแรงกว่า 10 เท่า

นายสุรเดช ตัณฑ์ไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด(มหาชน) หรือ ASIMAR กล่าวถึง แผนธุรกิจในปี 2563 บริษัทฯ วางเป้าหมายรายได้เติบโต 30% ยังคงเป็นไปตามแผน ปัจจุบันบริษัทมีงานที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) ราว 60 ล้านบาท เป็นงานต่อเรือกำจัดผักตบชวาของหน่วยงานราชการ และเรือโดยสารอลูมิเนียม พลังงานไฟฟ้า รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลโครงการต่อเรือของภาครัฐอีกหลายโครงการ เพื่อสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2/2563 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทฯ มุ่งเน้นความปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจ กำหนดมาตรการในการป้องกันและดูแล ทั้งในส่วพนักงานและลูกค้าที่มาใช้บริการในอู่

“แม้ว่าจะมีผลกระทบจากโควิด-19 แต่ลูกค้ายังคงเชื่อมั่น และให้ความไว้วางใจ มีงานซ่อมเรือเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบริษัทฯ ให้ความสำคัญในการดูแลทั้งพนักงานและลูกค้าให้ปลอดภัย โดยกำหนดมาตรการในการทำงานอย่างเข้มงวด มีการตรวจสอบก่อนเรือเข้าเทียบตามมาตรการป้องกันของกรมเจ้าท่า ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคบนเรือ และสถานที่ทำงาน ทุกสัปดาห์ ห้ามพนักงานเดินทางข้ามเขตโดยไม่มีเหตุจำเป็น รวมทั้งสุขอนามัยในการทำงาน และการเข้าออกบริษัทฯ” นายสุรเดช กล่าว

สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้ บริษัทฯเน้นการปรับปรุง เครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงาน รวมทั้งโครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณหน้าท่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการรองรับเรือ ทั้งเรือรอขึ้นอู่เพื่อซ่อมและเรือที่มาจอดพัก (Laid up) จากเดิมที่ต้องเสียค่าเช่าท่าจอดเรือ เป็นการลดค่าใช้จ่าย เพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุน

ส่วนแผนงานของอู่สาขาที่ จ.สุราษฎร์ธานี บริษัทเน้นเจาะลูกค้ากลุ่มเรือราชการ โดยได้เข้าร่วมประมูลงานซ่อมเรือของหน่วยงานราชการต่าง ๆ มากขึ้น ขณะที่ลูกค้าภาคเอกชน ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการที่ทีมการตลาดทำแผนงานอย่างหนัก นอกจากนี้ได้มีการเพิ่มไลน์โปรดักส์ใหม่ โดยเป็นตัวแทนซ่อมเรือยางท้องแข็ง ของบริษัท Zodiac Milpro ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำจากประเทศฝรั่งเศส เพื่อขยายตลาดงานซ่อมเรือให้หลากหลาย
“อู่ที่จ.สุราษฎร์ธานี รายได้ค่อยๆโตขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2563 บริษัทฯมีแผนขยายรายได้ จากฐานลูกค้าในพื้นที่ และลูกค้าประจำที่มีงานทางโซนภาคใต้ โดยไม่ต้องวิ่งเรือมาเข้าอู่ที่จ. สมุทรปราการ ทำให้ลูกค้าสะดวกและประหยัดต้นทุนน้ำมัน แต่เนื่องจากในปีนี้ธุรกิจ Offshore ชะลอตัวค่อนข้างมากตามภาวะเศรษฐกิจโลก และมีคู่แข่งขันเข้ามาเปิดตลาดกันมากขึ้น บริษัทจึงเน้นขยายตลาดเรือราชการให้มากขึ้น เช่น เรืออบจ. อบต. เรือข้ามเกาะ และเรือท่องเที่ยว” นายสุรเดช กล่าว

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 1/2563 ของบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 10.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.91 ล้านบาท เทียบจากงวดเดียวกันของปี 2562 ที่มีกำไร 1.06 ล้านบาท หรือโตกว่า 10 เท่าตัว และมีรายได้รวม 133.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.35% โดยรายได้มาจากงานซ่อมเรือ 96.50 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 8.40 ล้านบาท เนื่องจากงานทั้งสาขาสมุทรปราการและสาขาสุราษฎร์ธานี มีปริมาณเรือและมูลค่าในการซ่อมต่อลำลดลง รวมทั้งมีลูกค้าบางรายยกเลิกการเข้าซ่อม เนื่องจากเจ้าของเรือได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19)

ส่วนรายได้จากงานต่อเรืออยู่ที่ 23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 21.80 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 1/2563 มีการส่งมอบงานเรือโดยสารอลูมิเนียมปรับอากาศจำนวน 4 ลำ ของบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด และโครงการต่อเรือกำจัดผักตบชวา จำนวน 2 ลำ ของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งรับงานผ่านมาจาก บริษัท อีโค มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เมื่อเทียบกับปีก่อนมีเพียงโครงการต่อเรือเก็บขยะ ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จำนวน 1 ลำ

“ผลประกอบการที่ออกมาเป็นที่น่าประทับใจทั้งรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกนี้ มาจากการส่งมอบงานต่อเรือโดยสารอลูมิเนียมปรับอากาศจำนวน 4 ลำ ของบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ส่งผลให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 1.26 โดยอัตรากำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นมาจากการบริหารต้นทุนการต่อเรือที่ดีกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ รวมทั้งมีการควบคุมค่าใช้จ่ายของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายสุรเดช กล่าว

www.mitihoon.com