ปมขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน เมื่อวิกฤตโควิด-19 กระทบหลายชิ่ง

123

ขณะที่บาดแผลทางเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ยังไม่ทันจางลง ตลาดการเงินโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากคลื่นความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนลูกใหม่ โดยข้อเสนอของทางการจีนเพื่อบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง ส่งผลให้มีการชุมนุมประท้วงอีกครั้งในฮ่องกง ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ เตือนว่าจะตอบโต้จีนอย่างแข็งกร้าว ทางด้านที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาวระบุว่า การดำเนินการของจีนเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวอาจจะนำไปสู่มาตรการคว่ำบาตรหรือแม้แต่ทำให้สถานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของฮ่องกงอาจต้องสั่นคลอน

ประเด็นกฎหมายคุมม็อบฮ่องกงในบริบทของการลงทุนสะท้อนเรื่องราวความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความเชื่อมโยงกัน โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม สหรัฐฯ ระบุว่ากำลังเร่งผลักดันแผนปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานด้วยการย้ายสายการผลิตระดับโลกออกจากจีน และอาจพิจารณาเก็บภาษีนำเข้าใหม่จากสินค้าจีน เพื่อลงโทษจีนเรื่องการระบาดของ COVID-19 และทรัมป์ยังคัดค้านการเจรจาต่อรองใหม่สำหรับดีลการค้าเฟสแรกที่ลงนามไว้เมื่อต้นปีนี้ซึ่งจีนได้ให้สัญญาว่าจะเข้าซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 แสนล้านดอลลาร์ในเวลาสองปี ขณะที่สหรัฐฯ ยอมลดอัตราภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บจากสินค้าจีน นอกจากนี้ วุฒิสภาสหรัฐฯได้ผ่านร่างกฎหมาย Holding Foreign Companies Accountable Act ซึ่งยังต้องผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะลงนามต่อไป ความเคลื่อนไหวนี้อาจทำให้บริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กถูกเพิกถอนออกจากตลาดได้ แม้ว่าร่างกฎหมายไม่ได้ระบุถึงประเทศใดเป็นการเฉพาะเจาะจงแต่ตลาดอ่านทางว่ามีความพยายามจะกระทบชิ่งไปที่บริษัทสัญชาติจีนเป็นหลัก

เงินหยวนอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนครึ่ง หรือนับตั้งแต่ตลาดขานรับสัญญาณพักรบสงครามการค้าเมื่อช่วงเดือนกันยายน 2562 (กราฟด้านล่าง) การอ่อนค่าของเงินหยวนสะท้อนว่าความหวังเรื่องการประสานรอยร้าวได้จางหายไป เรามองว่าความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นจะกระทบการคาดการณ์แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงซึ่งอยู่ในภาวะเปราะบางท่ามกลางแรงกระแทกจากโควิด-19  เป็นทุนเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯเตรียมเข้าสู่โหมดเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เชื่อว่าทรัมป์พยายามทุกวิถีทางในการประคองคะแนนความนิยมเอาไว้หลังจากวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาลและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯเป็นจำนวนมาก โดยความขัดแย้งระลอกใหม่จะจำกัดการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ในระยะนี้

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)