มิติหุ้น-ผลกระทบ COVID-19 ส่งผลกระทบทั่วโลกผ่านไปถึงภาคเศรษฐกิจต่างๆอย่างชัดเจน อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่อาจกดดันตลาดหุ้นเพิ่มเติม ส่วนในประเทศ ยังคงเห็นภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจน
โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 นำไปสู่การปรับลด GDP Growth ปี 2563 โดยฝ่ายวิจัยฯ คาดหดตัวถึง -5.7% YoY และ Consensus คาดเฉลี่ย -5.1% YoY ขณะที่ประเด็นติดตามให้ความสำคัญกับมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายการเงินที่มีแนวโน้มผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้ม Fund Flow เดือน มิ.ย. 2563 ยังไม่เห็นสัญญาณการไหลกลับ หลังจากเดือน พ.ค. 2563 ต่างชาติขายสุทธิทุกวันทำการ ด้วยมูลค่ารวม 3.6 หมื่นล้านบาท (mtd) ขณะเดียวกันแรงซื้อจากสถาบันในประเทศเริ่มเบาบางลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา
บ่งบอกว่าตลาดหุ้นไทยถูกขับเคลื่อนด้วยเม็ดเงินลงทุนเดิม เพียงแต่เป็นการสลับหมุนเวียนไปลงทุนในหุ้นกลุ่มต่างๆ (Sector Rotation) เท่านั้น
ส่วนภาพรวมตลาดหุ้นไทย กำไรบริษัทจดทะเบียนงวด 1Q63 หดตัวแรงถึง 51% QoQ และ 61% YoY บวกกับกำไรบริษัทจดทะเบียนงวด 2Q63 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปี ถือเป็น Downside ต่อประมาณการ และนำไปสู่การปรับประมาณการกำไรปี 2563 ใหม่อีกครั้ง
โดยคาดการณ์ EPS ปี 2563ใหม่ อยู่ที่ 64.0 บาท/หุ้น (ต่ำกว่า Consensus ที่ 67.7 บาท/หุ้น) และหากพิจารณาจาก Market Earning Yield Gap ที่ 55% จะให้ค่า PER เป้าหมายที่ 18.2 เท่า คิดเป็น SET Index เป้าหมายที่ 1164 จุด เท่ากับว่า SET Index
ณ ปัจจุบันไม่เหลือ Upside ในทางพื้นฐานแล้ว อีกทั้งยังซื้อขายบนระดับ PER63F ที่สูงเกินกว่า 21 เท่า (สูงสุดในภูมิภาค)
ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในเดือน มิ.ย. 2563 แนะจัดพอร์ตเตรียมรับความผันผวนของตลาด โดยเน้นเลือกลงทุนหุ้นที่มั่นคง มีความผันผวนต่อภาวะเศรษฐกิจต่ำ เลือก ADVANC, BCPG และ BDMS ช่วยรองรับความผันผวนจากความเสี่ยงต่างๆ ได้ดี
และหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งที่ให้ปันผลสูง เลือก BBL, PTT, TVO และ TTW มีเงินปันผลเป็นเบาะรองรับความผันผวน ขณะที่หุ้น Overvalue ที่ควรใช้ความระมัดระวังในการซื้อขาย คือ DELTA เพราะมีโอกาสหลุดออกจากการคำนวณ SET50 และ SET100 ในรอบนี้ และ LPN ที่ราคาหุ้นฟื้นขึ้นมาแรง สวนทางแนวโน้มการเติบโต
www.mitihoon.com